เมื่อลูกเรือของสุดยอดสายการบิน 'สิงคโปร์แอร์ไลน์' พบกับสุดยอดทีมงานจาก 'สนามบินสุวรรณภูมิ'

เครื่องบิน Boeing 777-300ER ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (SIA) เที่ยวบิน SQ321 ซึ่งมีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน และลูกเรือ 18 คน บินจากลอนดอน (ฮีทโธรว์) ไปยังสิงคโปร์ ได้ประสบกับสภาพอากาศปั่นป่วน (Turbulence) อย่างกะทันหันบริเวณเหนือทะเลสาบอิรวดี เมียนมา ที่ความสูง 37,000 ฟุต ประมาณ 10 ชั่วโมงหลังจากออกเดินทาง นักบินจึงต้องรีบประกาศภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินไปยังกรุงเทพฯ และลงจอดยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 21 พฤษภาคม 2024

สิงคโปร์แอร์ไลน์ยืนยันว่ามีผู้บาดเจ็บหลายรายและเสียชีวิตหนึ่งรายบนเครื่องบินลำดังกล่าว โดยผู้โดยสารและลูกเรือได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือที่บาดเจ็บเล็กน้อยได้รับการตรวจรักษาตามอาการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์โดย CEO ได้แถลงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และขออภัยอย่างที่สุดกับประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจของผู้โดยสารและลูกเรือในเที่ยวบินนี้ โดยสิงคโปร์แอร์ไลน์จะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นทั้งหมดในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเต็มที่

เกี่ยวกับการรับมือในเหตุการณ์นี้ ทางสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรและหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น โดยทีมงานของสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่จำเป็น และสิงคโปร์แอร์ไลน์กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

Peter Seah CEO ของสิงคโปร์แอร์ไลน์กล่าวว่า “ในนามของคณะกรรมการสายการสิงคโปร์แอร์ไลน์ ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและคนที่รักของผู้โดยสารของเราที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2024 ในเหตุการณ์ SQ321 ผมขอรับรองกับผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนที่อยู่บนเครื่องบินว่าเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนพวกเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ผมอยากจะแสดงความขอบคุณต่อทุกคนในสิงคโปร์ ไทย และทั่วโลกที่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้”

สิงคโปร์แอร์ไลน์ ก่อตั้งเมื่อ 1 พฤษภาคม 1947 หรือ 77 ปีก่อนในชื่อ ‘มาลายันแอร์เวยส์’ (Malayan Airways) ปัจจุบันมี Temasek Holdings กองทุนการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นร้อยละ 55 สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินระดับ 5 ดาว และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกโดย Skytrax ถึง 5 ครั้ง และติดอันดับหนึ่งใน 15 สายการบินชั้นนำของโลกในแง่ของรายได้ผู้โดยสารตามระยะทาง และติดอันดับที่ 10 ของโลกสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่บรรทุกผู้โดยสาร พนักงานต้อนรับของสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้รับการโหวตให้เป็นลูกเรือของสายการบินที่ดีที่สุดในโลกของ Skytrax ประจำปี 2019 

นอกจากนี้ ยังได้ตำแหน่งสายการบินที่สะอาดที่สุดในโลกตามลำดับในปี 2019 ในปี 2023 ได้รับรางวัล 'สายการบินที่ดีที่สุด' และ 'สายการบินที่บริการชั้นหนึ่งที่ดีที่สุด' โดย Skytrax เป็นครั้งที่ 5

แม้ว่าจุดเกิดเหตุจะใกล้ท่าอากาศยานนานาชาตินครย่างกุ้งมากกว่า แต่นักบินเที่ยวบิน SQ321 ก็ตัดสินใจนำเครื่องบินมุ่งหน้ามาลงยังท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิของไทย ด้วยเหตุที่มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิจึงเป็นจุดลงจอดที่เหมาะสมเพราะมีความพร้อมมากกว่า 

ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมรองรับต่อเหตุฉุกเฉินจากการโดยสารเครื่องบินอย่างครบครัน ทั้งยังมีการทบทวนแผน การฝึกซ้อมย่อย และการฝึกซ้อมใหญ่เต็มรูปแบบ (Full Scale Exercise) ตามแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุของสนามบิน (SEMEX) กรณีอากาศยานอุบัติเหตุและการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

การฝึกซ้อมฯ ดังกล่าวจะมีการจำลองสถานการณ์ การซักซ้อมกระบวนการปฏิบัติการฉุกเฉินเสมือนจริง ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีร่วมกับทุกภาคส่วนทุกเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานอาสาสมัคร โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ

ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้โดยสารของสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน SQ321 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงได้ประกาศแผนฉุกเฉิน และมีการประสานงานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 จังหวัดสมุทรปราการ ประสานขอรถพยาบาลจากหน่วยในพื้นที่ของจังหวัดเข้าสนับสนุน และประสานส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กระทั่งเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยังได้กล่าวชื่นชมทีมฉุกเฉินที่สามารถปฏิบัติงานรองรับเหตุลงจอดฉุกเฉินของสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน SQ321 ตาม ‘แผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นผลมาจากการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เป็นประจำทุกปี

สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดในระหว่างการโดยสารเครื่องบินคือ ‘การคาดเข็มขัดที่นั่ง’ เมื่อนั่งเครื่องบิน พอไฟเตือนให้คาดเข็มขัดดับลงผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็มักจะพากัน ‘ปลดเข็มขัดที่นั่ง’ ปกติแล้วการเดินทางด้วยเครื่องบินมีโอกาสที่จะเจอกับสภาพอากาศแปรปรวน หรือที่เรียกกันว่า ‘การตกหลุมอากาศ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ทำให้ความเสี่ยงที่จะเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนขณะโดยสารเครื่องบินมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วนักบินก็จะทำการแก้ไขให้สามารถเดินทางไปได้อย่างปลอดภัย แต่หากขณะที่เครื่องบินเกิดตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยก็จะถูกแรงเหวี่ยงให้ลอยขึ้นและตกลงมาสู่พื้นห้องโดยสาร ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ 

ดังนั้นผู้เดินทางโดยเครื่องบินในระหว่างการเดินทางเมื่อนั่งอยู่กับที่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย แม้ไฟเตือนให้คาดเข็มขัดจะดับลงแล้วก็ตาม อีกประการหนึ่งคือ กระเป๋าที่นำติดตัวขึ้นเครื่อง (Carry-on-bag) ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม หากช่องเก็บของเหนือศีรษะเปิดออกมาเอง จากบางครั้งตอนเครื่องบินลงจอดแล้วกระแทกพื้นแรง ๆ แรงสั่นสะเทือนอาจทำให้ฝาปิดช่องเก็บของเปิดออกมาเองได้ กระเป๋าเดินทางที่น้ำหนักเยอะมากอาจตกใส่ศีรษะผู้โดยสารทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต (จากการคอหัก) ได้


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES