‘กทม.’ ขอบคุณคนกรุงฯ ที่ร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อ ‘กำจัดขยะ’ ไป 141 ล้านบาท ใน 1 ปี

(14 พ.ค. 67) ที่ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานเขตคลองเตย และคณะผู้บริหารตลาดคลองเตย ลงพื้นที่ติดตามโครงการไม่เทรวม ที่บริเวณจุดทิ้งขยะ ตลาดคลองเตย ซอย 8

จากนั้นเดินทางติดตามการจัดทำจุดหมักปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยหมักจากขยะเศษอาหาร ที่สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า เขตคลองเตย ซึ่งเป็นจุดที่สำนักงานเขตคลองเตยรับปุ๋ยหมักจากศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช และขยะเศษอาหารจากจุดต่าง ๆ ภายในเขตฯ มาทำคลุกทำปุ๋ย พัฒนาคุณภาพ และนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นปลายทางของการจัดการขยะ

นายเอกวรัญญูกล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จากการขับเคลื่อนโครงการไม่เทรวม ต้องขอบคุณประชาชนและเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือ และทำให้ กทม.สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะไปได้ถึง 141,474,000 บาท คิดเป็นจำนวนปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลดลง 74,460 ตันต่อปี และขยะจากเศษอาหารที่เข้าสู่กระบวนการจัดการขยะยังสามารถนำกลับมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อได้ด้วย

นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า กทม.ได้มีการบริหารจัดการขยะจากแหล่งกำเนิด ในแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ ( L ) เช่น ตลาด สำนักงาน ห้าง โรงแรม โรงเรียน ขนาดกลาง ( M ) เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และชุมชน คาดว่าหลังจากนี้จะสามารถขยายผลลงสู่แหล่งกำเนิดขยะในระดับครัวเรือน หรือขนาดเล็ก ( S ) ต่อไป

ทั้งนี้ ผลการคัดแยกขยะของแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ ในเดือน มี.ค. 2567 มีแหล่งกำเนิดเข้าร่วม 2,805 แห่ง สามารถแยกเศษอาหารได้ 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน ยกตัวอย่าง ตลาดเข้าร่วม 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษาเข้าร่วม 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้าเข้าร่วม 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน

“สำหรับค่าเป้าหมายการคัดแยกขยะทุกประเภท ประจำปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 200 ตัน/วัน ปี 2568 อยู่ที่ 500 ตัน/วัน และปี 2569 อยู่ที่ 1,000 ตัน/วัน” นายเอกวรัญญูกล่าว

ด้าน นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผอ.เขตคลองเตย กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ตลาดคลองเตย ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าในตลาด พร้อมมีการกำชับเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดให้นำเศษขยะอาหาร ใบไม้ มาจัดทำปุ๋ย ส่วนขยะอื่น ๆ ให้แยกตามประเภท ส่งผลให้สำหรับในเขตคลองเตย สามารถลดค่ากำจัดขยะได้ถึงประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี

“ต้องขอขอบคุณตลาดคลองเตย และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ที่ให้การสนับสนุนการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง โดยรวบรวมขยะประเภทเศษผักจากตลาดคลองเตย ได้วันละประมาณ 18 ตัน จะนำไปผลิตปุ๋ยหมักที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ก่อนนำมาหมุนเวียนใช้ และแจกจ่ายใช้ในสวนสาธารณะของ กทม.ต่อไป” นางเบญญากล่าว