'ตำรวจมะกัน' เล่นแรง!! 'จับกุม-ทำร้าย' ม็อบนักศึกษากว่า 700 คน สกัดกระแสประท้วงความบ้าสงครามของอิสราเอลจากเด็กๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ เริ่มออกปฏิบัติการจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านสงครามในเขตฉนวนกาซาของอิสราเอล ที่ตอนนี้กำลังขยายวงในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ ล่าสุด มีรายงานการใช้สารเคมีที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง และ ปืนช็อตไฟฟ้า เพื่อสลายการชุมนุมของนักศึกษา และได้จับกุมผู้ร่วมประท้วงในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไปแล้วถึง 675 คน 

จุดเริ่มต้นของการประท้วง เกิดขึ้นที่ Columbia University ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีกลุ่มนักศึกษาผู้สนับสนุนปาเลสไตน์นัดรวมตัวประท้วงเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีทางทหารในพื้นที่ฉนวนกาซา และให้คณะผู้บริหารของ Columbia University แสดงจุดยืนต่อต้านการทำสงครามของอิสราเอลด้วยการยกเลิกสัญญาความร่วมมือทางวิชาการต่อบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นของอิสราเอล 

ซึ่งการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Columbia University ถูกมองว่าเข้าข่ายแนวคิดเหยียดชาวยิวอย่างรุนแรง ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กส่งกำลังเข้าจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่ปักหลักประท้วงถึงในเขตรั้วมหาวิทยาลัยกว่า 100 คน 

แต่กลับกลายเป็นว่า การบุกจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับโหมกระพือกระแสการประท้วงต่อต้านสงครามในกาซาให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน ที่มีการนัดรวมกลุ่มประท้วงภายในสถาบันอย่างมากมาย ลามตั้งแต่เขตฝั่งตะวันออก ไปจนถึงฝั่งตะวันตก และตอนนี้ กระแสเริ่มไปไกลถึงสถาบันในต่างประเทศแล้ว ทั้งใน แคนาดา, ยุโรป และออสเตรเลีย ก็มีรายงานการประท้วงของนักศึกษาแล้วเช่นกัน

หลังจากที่การประท้วงของกลุ่มนักศึกษากำลังเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ก็มีรายงานการบุกจับกุมนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มที่ University of Texas ที่มีการบุกจับกุมอย่างชุลมุน ตามมาด้วย University of Southern California ที่มีนักศึกษาถูกจับไปร่วม 100 คน 

และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการจับกุมม็อบนักศึกษาในสหรัฐฯ อีกหลายสถาบัน อาทิที่ Northeastern University, Indiana University, Arizona State University, Washington University  ซึ่งหากนับรวมจำนวนนักศึกษาที่ถูกคุมขัง หลังมีการประท้วงต่อต้านอิสราเอลในรั้วสถาบันกว่า 10 วัน มีมากถึง 675 ราย 

นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาบางคนที่เข้าร่วมการประท้วง ถูกลงโทษถึงขั้นพักการเรียน หรือ ไล่ออกจากสถาบัน ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นน้อยมากในสถาบันการศึกษาในสหรัฐ แต่กลับเกิดขึ้นในการประท้วงครั้งนี้ในหลายสถาบัน ได้แก่ Yale University, Cornell University, Vanderbilt University และที่ University of Minnesota

จอห์น เฮนเดรน นักศึกษาจาก Princeton University ในรัฐนิวเจอร์ซี New Jersey ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า การประท้วงในประเทศนี้มีราคาสูงที่ต้องจ่าย และนักศึกษาจำนวนมากกำลังเสี่ยงที่จะถูกไล่ออกจากสถาบันอย่างสูญเปล่า ซึ่งค่าเรียนที่ Princeton ก็สูงถึงปีละ 50,000 เหรียญ (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) และมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ยอมทุ่มเงินเก็บทั้งชีวิตเพื่อมาเรียนที่นี่ แต่ทว่าหลายคนยอมที่จะเสี่ยง เพื่อต้องการแสดงพลังในสังคมได้เห็น 

ในขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐฯ อ้างถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องสลายการชุมนุม และเข้าจับกุมนักศึกษาเนื่องจากพบหลักฐานการสร้างวาทกรรมความรุนแรงในกลุ่มผู้ประท้วง เช่น ยุยงให้มีการสังหารหมู่ชาวยิว ดังเช่นในกรณีที่ เกิดขึ้นใน Univesity of Texas และ Northeastern University ที่ทำให้เบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอลออกมาประณามกลุ่มนักศึกษาอเมริกันที่ร่วมประท้วงต่อต้านอิสราเอล และสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างมาก และต้องยุติการกระทำโดยทันที 

แต่ทั้งนี้ การประท้วงในกลุ่มนักศึกษาสหรัฐฯ ไม่ได้มาจากกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชนชาวยิวในสหรัฐฯ ที่เป็นลูกหลานผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ไม่ต้องการเห็นชาวอิสราเอลเข่นฆ่าชนชาติอื่น ที่ไม่ต่างจากชะตากรรมที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยเผชิญมา และนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามขัดขวางเสรีภาพในการพูด และการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองของเหล่านักศึกษา อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Al jazeera / Time of Isreal