เมื่อการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 'อินโดนีเซีย' กับ 'อิสราเอล' อาจจะเป็น 'การฆ่าตัวตายทางการเมือง' ของรัฐบาลจาการ์ตาในบัดดล

"ประเทศสมาชิก ASEAN 3 ชาติได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามล้วน แต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเลย ขณะที่อินโดนีเซียได้ออกมาปฏิเสธรายงานที่ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเพื่อสิทธิในการเข้าเป็นชาติสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) นั่นก็เพราะการกระทำเช่นนี้ในระหว่างสงครามอันโหดร้ายในฉนวนกาซา จะทำให้เกิด 'ความวุ่นวายและคลื่นแห่งความไม่เห็นด้วย' ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก" ผู้สังเกตการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรายหนึ่งระบุพร้อมเผยอีกว่า…

หากมีการเคลื่อนไหวดังกล่าวจริงจะถือเป็น ‘การฆ่าตัวตายทางการเมือง’ แม้ข้อตกลงที่อินโดนีเซียต้องรับรู้และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ก่อนการลงมติให้อินโดนีเซียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การแห่งนี้ ซึ่งมีสมาชิก 38 ประเทศรวมทั้งอิสราเอล จะได้รับการเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยเว็บไซต์ข่าว Ynet ของอิสราเอล

สำหรับ OECD เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก 

แต่เดิมองค์กรนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในนาม องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป หรือ โออีอีซี (Organization for European Economic Co-operation: OEEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1948 ในช่วงสมัยสงครามเย็น วัตถุประสงค์คือ เพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลับคืนมาและคงไว้อย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมโดยแผนการมาร์แชลล์ 

โดยบทบาทหลักของ OECD คือการปรับปรุงเศรษฐกิจโลกและส่งเสริมการค้าโลก เป็นทางออกสำหรับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกับประเทศประชาธิปไตยที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการปรับปรุงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร

อย่างไรก็ตาม การ 'พูดถึง' การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ไม่ว่าจะจากรัฐหรือนักการเมืองอินโดนีเซียคนใดก็ตาม "จะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองทันที" ซึ่งนี่ก็เป็นคำกล่าวของ Dina Sulaiman นักวิชาการผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาตะวันออกกลางของอินโดนีเซียที่มองว่า “ประชาชนชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์” ระหว่างที่เธอบอกกับ This Week in Asia

แน่นอนว่า หากประเทศใดต้องการเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกของ OECD ประเทศผู้สมัครจะต้องได้รับการอนุมัติจากชาติสมาชิกปัจจุบันทั้งหมด ซึ่งนั่นก็รวมถึงชาติอย่างอิสราเอลด้วย 

"ประเทศผู้สมัครที่จะได้รับการยอมรับต้องแสดงให้เห็นถึง ความคิดที่เหมือนกันทั้งคำพูดและการปฏิบัติในความสัมพันธ์กับองค์กรและชาติสมาชิกตามแผนงานเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์กรแห่งนี้" นี่คือรายงานของ Ynet ซึ่งอ้างถึงจดหมายที่ Mathias Cormann เลขาธิการ OECD ระบุไว้เมื่อเดือนที่แล้วถึง Israel Katz รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล โดยเผยว่า "OECD ตัดสินใจยึดหลักการขององค์กรในการเห็นพ้องอย่างเป็นทางการต่อเงื่อนไขเบื้องต้นที่ชัดเจนและปฏิบัติตาม ซึ่งอินโดนีเซียจะต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสมาชิก OECD ทั้งหมด ก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดๆ ที่จะยอมรับการสมัครเป็นชาติสมาชิกของ OECD”

รายงานยังอ้างถึงจดหมายที่ระบุว่า Katz ได้ส่งถึง Cormann โดนเผยอีกว่า "เขาคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก จาก 'นโยบายที่ไม่เป็นมิตร' ของอินโดนีเซียต่ออิสราเอล เพื่อที่ทั้งสองจะได้กระชับความสัมพันธ์" 

รายงานอ้างสิทธิ์ด้วยว่า อินโดนีเซียจะเข้าร่วม OECD ได้นานถึง 3 ปี หากยอมรับในความสัมพันธ์ดังกล่าวกับอิสราเอล แต่อินโดนีเซียก็ปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดย Lalu Muhammad Iqbal โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "เราไม่มีแผนที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังความโหดร้ายของอิสราเอลในฉนวนกาซา"

Lalu ระบุว่า "จุดยืนของอินโดนีเซียไม่เปลี่ยนแปลง และเรายังคงสนับสนุนเอกราชของปาเลสไตน์อย่างมั่นคงภายใต้กรอบของการแก้ปัญหาสองรัฐ อินโดนีเซียจะมีความสม่ำเสมอและอยู่ในแนวหน้าในการปกป้องสิทธิของชาวปาเลสไตน์เสมอ" 

Lalu กล่าวอีกว่า "อินโดนีเซียอาจต้องใช้เวลา 'ค่อนข้างนาน' ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD" แต่ทั้งนึ้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จาการ์ตาวางแผนที่จะปรับ Roadmap การเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรแห่งนี้ภายในเดือนหน้าเช่นกัน

ทั้งนี้ หากย้อนไปในการประชุมเอกอัครรัฐทูต OECD เมื่อเดือนมกราคม มีรายงานว่าอิสราเอลคัดค้านอินโดนีเซียที่เข้าร่วมองค์กร เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ และ รัฐบาลจาร์ตารู้ดีว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ปกติกับอิสราเอลในขณะนี้ เมื่อพิจารณาจากความรู้สึกของสาธารณชนท่ามกลางสงครามนองเลือดในฉนวนกาซา ที่มีรายงานชาวปาเลสไตน์มากกว่า 33,000 คนเสียชีวิต

"ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความรู้สึกของสาธารณชนชาวอินโดฯ กลับมาสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างมาก เนื่องจากผู้คนมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา" สุไลมาน แห่งศูนย์ศึกษาตะวันออกกลางแห่งอินโดนีเซียกล่าว

การทำข้อตกลง Abraham ที่สหรัฐฯ เป็นตัวกลางให้อิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน 
ในปี 2020

ขณะที่การสำรวจโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ของสิงคโปร์ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็สำทับชัดมุมมองของ สุไลมาน โดยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวอินโดนีเซียร้อยละ 74.7 มองว่าสงครามอิสราเอล-กาซาเป็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อันดับต้นๆ ของพวกเขา และเกือบร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลว่า การโจมตีฉนวนกาซารุนแรงจนเกินไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินการฟื้นฟูทางการทูตกับอินโดนีเซีย เพื่อสร้างมาตรฐานตามแนวทางในข้อตกลง Abraham ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯ เป็นตัวกลางแบบที่อิสราเอลได้ทำกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และประเทศอาหรับอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2020 ผ่านความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียที่ซื้อจากกองทัพอากาศอิสราเอลระหว่างปี 1979-1982 พร้อมทั้งมีการฝึกนักบินอินโดนีเซียที่ฐานทัพอากาศของอิสราเอลในช่วงเวลาเดียวกัน

เครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียที่ซื้อจากกองทัพอากาศอิสราเอล

สำหรับเป้าหมายของอิสราเอลที่ต้องการสถาปนาความสัมพันธ์กับอินโดฯ ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นสะพานสำคัญในการขยายการทูตไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย, ปากีสถาน และบังคลาเทศ ตามมุมมองของ Siti Mutiah Setiawati อาจารย์ด้านธรรมาภิบาลและการเมืองในตะวันออกกลาง และ OECD จะเป็นแม่เหล็กที่ทำให้อินโดนีเซียต้องตัดสินใจ แม้ใน

ทว่าในปัจจุบันก็ยังไม่มีประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใดกล้าเสนอให้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตตามปกติกับอิสราเอลเลย แม้แต่ Jokowi Widodo

สำหรับ ASEAN นั้น ยังไม่มีประเทศใดมีสถานภาพเป็นสมาชิกของ OECD เลย โดยอินโดนีเซียมีสถานภาพเป็นประเทศหุ้นส่วน/พันธมิตรที่เข้าร่วม (Participating Partners) และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก (Negotiating Membership) 

ด้านประเทศไทยเองก็มีสถานภาพเป็นประเทศที่แสดงความสนใจที่จะเป็นสมาชิก (Expressed interest) 

ส่วนประเทศในทวีปเอเชียที่มีสถานะเป็นสมาชิกแล้วได้แก่ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ขณะที่ อินเดีย และ จีน มีสถานภาพเป็นประเทศหุ้นส่วน/พันธมิตรที่เข้าร่วม (Participating Partners) เช่นเดียวกับ อินโดนีเซีย


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES