'ในหลวง ร.๑๐' ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ดูแลเด็กยากลำบาก สถานภาพด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘พระลาน’ ได้โพสต์ข้อความพร้อมระบุว่า… “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง อยู่ในความดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมตราสัญลักษณ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานตามที่ขอพระมหากรุณา ดังนี้

๑. ทรงพระราชทานรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข ๕๘-๖๖ ประกอบด้วย

๑) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๘ จังหวัดนนทบุรี
๒) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๙ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๓) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๐ จังหวัดเชียงใหม่
๔) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๑ จังหวัดเชียงใหม่
๕) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๒ จังหวัดเชียงราย
๖) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๓ จังหวัดร้อยเอ็ด
๗) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์สุราษฎร์ธานี เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๔ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๘) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุง เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๕ จังหวัดพัทลุง
๙) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๖๖ จังหวัดนราธิวาส

๒. ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทุกแห่ง 

‘โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์’ ทั้ง ๙ แห่ง ที่คัดเลือกมานี้เป็นโรงเรียนที่ดูแลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนและอยู่ในมูลนิธิฯ จะทำให้ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา ได้รับโอกาสอย่างทัดเทียม มีประสิทธิภาพทั้งวิชาการและทักษะอาชีพ เช่น เกษตรกรรม ทำอาหาร ฯลฯ มากยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมความสามารถด้านดนตรี ศิลปะ และกีฬา ปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกในความเป็นไทย พัฒนาโรงเรียนให้ก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อันคงไว้ซึ่งความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะครู บุคลากร และนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนและชุมชนดีขึ้น”