ผู้สร้าง ‘2475 Dawn of Revolution’ เคลียร์ทุกปมข้องใจของหนัง หลัง ‘ส.ศิวรักษ์’ วิจารณ์แบบขาดกาลามสูตร (โต้ตอบช็อตต่อช็อต)

นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution VS สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย

จากกรณี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักคิด และนักวิชาการชาวไทย ได้ออกมาวิจารณ์การ์ตูนแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ที่ค่อนข้างรุนแรง ด้านนายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน 2475 Dawn of Revolution ก็ได้ออกมาชี้แจง ทุกประเด็นจาก ส.ศิวรักษ์ โดยมีเนื้อหา ดังนี้...

>> ส.ศิวรักษ์: หนังตั้งใจทำมาก เพื่อให้เป็นว่าปรีดีเป็นคนเลวร้าย ตั้งใจเล่นงานคณะราษฎร และยกย่องพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างไม่มีที่ติ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ เป็นหนังมอมเมาคน

>> นายวิวัธน์: เราพยายามจะให้เห็นมิติต่าง ๆ ของตัวละครแต่ละตัว อย่างเอาจริง ๆ แล้วตัวละคร ‘ลุงดอน’ ในเรื่องค่อนข้างจะช่วยแก้ไขข้อเท็จจริงบางเรื่องให้ปรีดีด้วยซ้ำ เช่น ทำไมปรีดีถึงออกแบบสมุดปกเหลือง ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ปรีดีคิดว่าการมาของลัทธิคอมมิวนิสต์ มันเหมาะสมกับสยามในยุคนั้นหรือไม่ และก็อาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทยในยุคนี้เช่นกันด้วยหรือไม่

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเล่าประวัติศาสตร์ให้ครบทุกด้าน (ด้านที่คนไม่เคยรับรู้) ซึ่งการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เล่าเรื่องเหล่านี้ มันก็คือ อคติแบบหนึ่งเช่นกัน โดยจริง ๆ แล้วในมุมของรัชกาลที่ 7 หากเราได้ดูในหนัง ก็จะพบว่าท่านก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนพวกเรา อย่างเช่นในตอนสุดท้ายที่ท่านตัดสินใจสละราชสมบัติ ท่านเองก็รู้สึกผิดเป็นอย่างมาก โดยท่านได้เขียนโทรเลข และส่งมาถึงข้าราชบริพาร โดยขออภัย … หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่า ท่านทรงรู้สึกสำนึกผิดมากที่ต้องทิ้งราชบัลลังก์ และปล่อยให้ คณะราษฎรปกครอง เพราะท่านรู้สึกว่าท่านไม่สามารถที่จะยื้อ หรือใช้อำนาจของท่านในการต้านทานการใช้อำนาจอย่างอำเภอใจของทางคณะราษฎรได้อีกต่อไป 

เพราะหากพิจารณาดูจากรัฐธรรมนูญฉบับแรก ทุกคนจะเข้าใจได้เลยว่า แม้พระมหากษัตริย์ จะไม่อนุมัติเรื่องใด ๆ หรือไม่เห็นชอบด้วยกับคณะราษฎร แต่คณะราษฎรก็สามารถใช้เสียงโหวตในสภาเพื่อผ่านกฎหมายได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระองค์ก็เลยรู้สึกว่าท่านไม่อยู่ในสถานะที่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ ไม่สามารถที่จะคัดค้านอะไรได้อีกแล้ว และคณะราษฎร ก็มีการออกเสียงตามอำเภอใจ แล้วก็จะผ่านร่างกฎหมายเอง แต่...กลับต้องมายื่นให้ท่านเซ็น ซึ่งท่านก็ต้องเป็นคนเซ็นแทนประชาชน

การที่ท่านอยู่ภายใต้ คณะราษฎร ที่นึกอยากจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ อย่างเช่น กฎหมายตั้งศาลพิเศษ โดยที่ไม่มีอุทธรณ์ หรือ ฎีกา และคิดจะตั้งข้อหาใคร ก็ตั้งแล้วก็ยัดเยียดบทลงโทษได้เลย ทำให้ท่านไม่ยอมให้มันออกมาจากมือของท่านโดยเด็ดขาด ท่านไม่ยอมที่จะเซ็นเด็ดขาด ท่านก็เลยตัดสินใจที่จะเดินทางเสด็จไปต่างประเทศและสุดท้ายท่านก็ตัดสินใจที่จะสละราชสมบัติ เพราะสถานะของท่านไม่สามารถที่จะห้ามอะไรต่อไปอีกแล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าท่านยังคงอยู่สยาม ท่านก็เหมือนเป็น ‘ตราปั๊ม’ หรือเป็นเหมือน ‘ตรายาง’ เพื่อออกกฎหมาย,ฺดรอนเสรีภาพของประชาชนให้คณะราษฎร ดังนั้นท่านจึงไม่สามารถที่จะทนได้ และการที่หนัง สะท้อนมุมนี้ ก็เพื่อให้เห็นถึงความที่ท่านรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านช่วยอะไรประชาชนและประเทศไม่ได้อีกแล้ว 

ฉะนั้น การที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่ารัชกาลที่ 7 ดีไปหมดทุกอย่าง มันก็ไม่ใช่ มันก็มีมุมที่หนังสะท้อนว่าท่านรู้สึกผิดอยู่ หรือแม้แต่ตัวของ ปรีดี เอง ก็จะเห็นว่ามันมีมุมที่เขาสำนึกผิดอยู่ ผ่านบทสัมภาษณ์ระหว่างเขากับ แอนโทนี่ พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เอเชียวีค ประจำปารีส ที่ ปรีดี เองยังยอมรับเลยว่า วิธีการที่เขาทำหลายอย่างมันผิดพลาด อย่างการนำเสนอเศรษฐกิจของเขาก็ผิดพลาด หรือแม้แต่ พระยาทรงสุรเดช ก็สำนึกผิดในตอนหลัง และเอาจริง ๆ แม้แต่จอมพล ป.เอง เขาก็เคยสำนึกผิดด้วยว่าทำบาปทำกรรมกับรัชกาลที่ 7 ไว้มาก เพียงแต่ตัวหนังในภาคนี้ยังเล่าไปไม่ถึง

โดยสรุป เพื่อตอบ ส.ศิวรักษ์ ให้กระจ่างชัดขึ้น ผมมองว่าหนังเรื่องนี้ ได้เล่าถึงความผิดพลาดของทุกฝ่าย จนนำมาสู่เรื่องราวถึงยุคปัจจุบัน เพราะถ้าหากมองย้อนไปในวันที่เกิดการปฏิวัติ แล้ววันนั้นรัชกาลที่ 7 ท่านไม่ยอมขึ้นมา แล้วท่านก็ให้ทหารยึดอำนาจคืน คณะราษฎร ก็อาจจะจบตั้งแต่วันนั้น และนั่นก็อาจจะไม่ยืดเยื้อรุนแรงมาจนถึงเกิดกบฏบวรเดช, เกิดการกบฏ 18 ศพ หรือเกิดการจับประชาชนที่บริสุทธิ์ไปประหารชีวิต เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อประวัติศาสตร์ที่เรียนมาในหนังสือไม่ได้เล่าทั้งหมด ว่ามีอะไรเกิดขึ้น มีความผิดพลาดอะไรขึ้น มีการเกิดความรุนแรงใด ๆ ขึ้น แอนิเมชันเรื่องนี้ จึงทำหน้าที่ของมันในมุมที่หลายคนไม่เคยรู้ถึงภาพความผิดพลาดของทุกฝ่าย

>> ส.ศิวรักษ์: ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษอเมริกา อาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทยกอบกู้เอกราชในประเทศชาติได้ เรื่องนี้คนที่ทำหนังเรื่องนี้ไม่เอ่ยถึงเลย เอ่ยถึงแต่ความเลวทั้งหมด ทุกอย่างมาจากความเลวร้ายของปรีดีหมด หนังไม่เคารพข้อเท็จจริง เล่าไม่ครบ แล้วจะเสนออดีตให้ถูกต้องได้ยังไง

>> นายวิวัธน์: ส.ศิวรักษ์ บอกว่าทำไมเราไม่เล่าถึงตอนที่ปรีดีทำขบวนการเสรีไทย ก็ต้องบอกว่าเรายังเล่าไม่ถึงเรื่องสงครามโลก เพราะว่าหนังเรื่องนี้ เล่าแค่จบตอนในช่วงของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงสละราชสมบัติเท่านั้น แต่ไหนก็พูดเรื่องนี้แล้ว เอาจริง ๆ ท่านเสนีย์ ปราโมช ก็มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองด้วยนะครับ เพราะท่านเป็นเสรีไทยอเมริกา และเป็นคนที่ล็อบบี้ให้ไม่เกิดการประกาศสงครามกับอเมริกา เป็นคนที่ขวาง จอมพล ป.มาตั้งแต่วันแรกที่ จอมพล ป.จะประกาศสงคราม แล้วท่านไม่ยอมร่วมประกาศสงครามด้วย

ฉะนั้นไอ้การที่ทุกวันนี้ คนเข้าใจว่า ขบวนการเสรีไทย มาจากปรีดีคนเดียว มันไม่ใช่เลย เพราะทุกฝ่ายร่วมมือกัน แม้แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ประทับอยู่ที่อังกฤษในขณะนั้น ท่านก็ได้สนับสนุนเสรีไทยในอังกฤษด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่รัชกาลที่ 8 ท่านก็มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองและทำให้ไทยไม่เป็นประเทศแพ้สงครามด้วย

คำถาม คือ เรื่องแบบนี้ทำไม ส.ศิวรักษ์ ไม่เล่า ทำไมเล่าแค่ปรีดี ว่าเป็นคนดีคนเดียว ทำไมไม่เล่าถึงคนอื่น ๆ อย่างข้อตกลงที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นทำกับอังกฤษแล้วท่านเสนีย์คัดค้านอย่างหนัก แต่นายปรีดีกลับเห็นด้วย ตรงนี้ทำไม ส.ศิวรักษ์ ไม่เล่า ตรงนี้มันก็เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ที่พูดไม่ครบเหมือนกันใช่หรือไม่ 

แล้วส่วนที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่า พระยาทรงสุรเดชทำร้ายทำลายปรีดี รังแกปรีดี นู่นนี่นั่น เราก็นำเสนออยู่ในหนังเรื่องนี้นะ เพราะว่าตอนที่นายปรีดีเสนอสมุดปกเหลือง ก่อนที่ปรีดีจะเดินออกจากห้องประชุม เขาก็หันไปเห็นว่าพระยาทรงสุรเดชยืนคุยกับทาง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ พระยาศรีวิสารวาจา ที่เหมือนกำลังคิดจะทำอะไรบางอย่าง จากนั้น ปรีดี ก็เลยสงสัย และหันไปมอง พระยาทรงสุรเดช และบอกว่า “พวกแกใช่ไหมที่จัดการเรื่องนี้” คือ พวกเราเล่านะ แต่สุดท้ายเกิดไรขึ้นกับพระยาทรงสุรเดช? เขาก็โดนเนรเทศไง โดนยัดข้อหากบฏ แล้วก็ต้องเนรเทศไปอยู่เวียดนามบ้าง ไปอยู่กัมพูชาบ้าง แล้วก็ต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าที่ต่างประเทศ

>> ส.ศิวลักษณ์: หนังเรื่องนี้พยายามสื่อในทำนองว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ว่าพระยาศรีวิสารวาจา กับ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วย ซึ่งตัวหนังเรื่องนี้ไม่เห็นบอกเลยรัฐธรรมนูญที่ในหลวงเตรียมจะพระราชทานนั้นคืออะไร แต่ถ้าเราอ่านดูรัฐธรรมนูญที่พระราชทานนั้นจะมีเพียงเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง เหลวไหล พูดอย่างเดียวว่าในหลวงจะพระราชทาน รธน. อยู่แล้ว เหลวไหลเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน
>> นายวิวัธน์: เรื่องนี้ ส.ศิวรักษ์ ก็พูดไม่จริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 จาก นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา ไม่ได้มีแค่การตั้งนายกรัฐมนตรี (และขอบอกด้วยว่าแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรก็ยังไม่ได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับประชาชนอย่าง 100% ด้วย หรือก็คือ ประชาชนก็ยังไม่ได้อำนาจนะ แม้ข้อแรกจะเขียนมาสวยหรูว่า ‘อำนาจเป็นของประชาชน’ แต่เอาเข้าจริงแล้วในหลักการมันก็ยังไม่ถึงประชาชน)

หากแต่ในสาระสำคัญจะหมายถึงว่า วันที่ประชาชนยังไม่รู้เรื่องการปกครอง ยังไม่รู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ ทำให้พระมหากษัตริย์หรือผู้ที่มีอำนาจ ไม่สามารถโยนอำนาจนั้น ๆ ลงไปให้ประชาชนได้ทันที ซึ่งทุกประเทศก็เป็นอย่างนี้ ต้องให้กษัตริย์ ช่วยประคับประคองในช่วงแรกก่อน ซึ่งเรื่องนี้ ส.ศิวรักษ์ ก็น่าจะรู้ดีแหละว่ารัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 เป็นยังไง และก็คงรู้ว่าสาระนั้นก็ไม่ได้มีแค่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เพราะเมื่อไปดูในรายละเอียดรัฐธรรมนูญของท่าน ยังมีการตั้งสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย

นอกจากนี้รัชกาลที่ 7 ท่านยังทรงให้นายปรีดีไปร่าง พรบ.เทศบาลและการบริหารท้องถิ่นมาด้วย รู้ไหมเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องสิทธิหน้าที่จากล่างขึ้นบน ก็คือ จากหน่วยงานท้องถิ่นเล็ก ๆ ให้ลองเลือกผู้นำของท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ อันเป็นการเรียนรู้ ‘ประชาธิปไตย’ แบบค่อยเป็นค่อยไปด้วย และจากระดับท้องถิ่น ก็ค่อยขยายขึ้นมาเป็นระดับ ตำบล / อำเภอ / จังหวัด และ ระดับประเทศ 

ฉะนั้นการที่ ส.ศิวรักษ์ มาบอกว่ารัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 มีแค่การแต่งตั้งนายกฯ ผมว่ามันก็ตลกเกินไปหน่อย ซึ่งผมก็แอบสงสัยนะว่า การที่ ส.ศิวรักษ์ พูดโกหกแบบนี้ หรือจะเป็นกุศโลบายที่อยากให้คนช่วยออกมาพิสูจน์ความจริงให้หรือเปล่า

>> ส.ศิวรักษ์: รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ถูกอ้างจากหนังเรื่องนี้ว่าจะทำให้เกิดการริเริ่มประชาธิปไตย นี่มันประชาธิปไตยจอมปลอม ต่างจากของปรีดีที่เสนอมา อันนั้นเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเขียนชัดเจนเลยว่า อำนาจทั้งหมดเป็นของราษฎรสยาม แต่จนบัดนี้อำนาจนั้นยังไม่ได้มาเลย ทำไม? เพราะมีคนคิดที่จะทำลายอำนาจรัฐนี้ ให้ถูกถีบ ถูกกระทืบ ถูกโจมตี แม้กระทั่งหนังเรื่องนี้ก็โจมตีด้วย มันไม่เห็นคุณค่าเลยว่าปรีดี พนมยงค์ ต้องการให้อำนาจทั้งหมดกลายเป็นของราษฎรชาวสยาม

>> นายวิวัธน์: มาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของปรีดีบอกว่า อำนาจสูงสุดนั้น ๆ เป็นของราษฎรทั้งหลาย แต่การบริหารงานของรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ ก็ยังไม่ได้ให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง เพราะผมมองว่ามาตรา 1 นี้ เขียนเอาเท่เสียมาก นั่นก็เพราะถ้าอำนาจเป็นของประชาชนทั้งหลายจริง ทำไมเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากเท่าไหร่

ผมอยากให้ ส.ศิวรักษ์ กลับไปดูหลัก 6 ประกาศของคณะราษฎรสักหน่อย ในเรื่องเสรีภาพที่อยู่ในข้อ 5 ซึ่งบอกว่าประชาชนจะต้องมีเสรีภาพ แต่จะต้องไม่ขัดกับหลัก 4 ประการก็คือ มันจะมีหลักด้านความมั่นคง หลักด้านเศรษฐกิจ อันว่าด้วยการออกแบบสมุดปกเหลือง ซึ่งมีจุดหนึ่งที่บอกว่า “ถ้าราษฎรที่เป็นพวกหนักโลก” ตรงนี้สะท้อนรัฐธรรมนูญคณะราษฎรที่มองว่า ‘ราษฎรเป็นคนหนักโลก’ คุณๆ คณะราษฎรทั้งหลายมองคำว่าอำนาจเป็นของประชาชนแบบนี้หรือ

“อำนาจเป็นของประชาชน แต่ประชาชนบางส่วนเป็นคนหนักโลก และต้องเอาคนหนักโลกเหล่านี้มาใช้แรงงานเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ใครเกียจคร้าน ต้องถูกลงโทษ”

ประโยคนี้ คือ อำนาจเป็นของประชาชนหรือ ผมมองว่าอำนาจ มันก็ยังอยู่กับรัฐนะ ดังนั้นนี่คือความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่าดีที่สุดเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วมันใช่หรือไม่

>> ส.ศิวรักษ์: ผมเองก็เคยเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะในเรื่องกรณีสวรรคตนั้น ผมเชื่อเลยว่าปรีดีเกี่ยวข้องทั้งนี้ ผมไปเชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช จนถึงเชื่อเรื่องคนไปตะโกนในโรงหนังเลยว่าปรีดีฆ่าในหลวง เพราะสมัยนั้นผมเชื่อหนังสือพิมพ์สยามรัฐของ คึกฤทธิ์ มาก แต่สุดท้ายผมก็มารู้ทีหลังว่า คึกฤทธิ์ เป็นคนที่เลวร้าย แต่ว่ามีฝีปากในการเขียนมอมเมาให้คนเชื่อได้ ส่วนหนังเรื่องนี้ ยังเปรียบเทียบกับฝีมือการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ได้ครึ่งของคึกฤทธิ์เลย หรือแม้แต่กระทั่งเอาราชาศัพท์มาใช้ ก็น่าจะพิจารณาให้ถูกต้องมากกว่านี้ ไหน ๆ จะทำหนังทั้งที

>> นายวิวัธน์: ประเด็นแรกนะครับ เรื่องการตะโกนในโรงหนัง ผมสงสัยมานานแล้วว่า คุณไปรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นคนสั่งให้ไปตะโกน ท่านรู้ได้ยังไง? ผมกำลังสงสัยนะ คนที่เค้าไปตะโกนในโรงหนังที่บอกว่าปรีดีฆ่าในหลวงนั้น เขายื่นนามบัตรให้คนในโรงหนังหรือเปล่า ว่าตัวเขามาจากพรรคประชาธิปัตย์ เขาเป็นคนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือ คนที่ตะโกนว่าปรีดีฆ่าในหลวงบอกเองไหมว่า “ผมเป็นคนของคึกฤทธิ์ ปราโมช” อย่างนี้หรือเปล่า ส.ศิวรักษ์ เห็นหรือว่าเขาคนนั้นพูด มันมีคนยอมรับแบบนั้นด้วยหรือ

ส่วนประเด็นเรื่องคำราชาศัพท์ อันนี้ต้องขอน้อมรับจริง ๆ ว่า ทางทีมเราก็ยังไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไหร่ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องการให้บริบทของเรื่องนี้ มันถูกเล่าแล้วคนเข้าใจภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่ยังไงก็ขอน้อมรับ และจะนำไปปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

>> ส.ศิวรักษ์: ผมเตือนสติได้อย่างเดียวนะครับใช้หลักกาลามสูตรพุทธเจ้า อย่าเชื่อทุกอย่าง อย่าเชื่อ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงถ้าหาเอกสารต่างๆ มาสนับสนุนหรือคัดค้าน เพื่อให้นิสิต นักศึกษา นักเรียน ได้เติบโตแบบไม่ถูกยัดเยียด ไม่ใช่ถูกมอมเมา ซึ่งผมเสียดายไม่น้อยที่ตอนนี้คนกำลังถูกมอมเมา จนถึงขั้นไปโจมตีสถาบันปรีดี มูลนิธิปรีดี

>> นายวิวัธน์: เรื่องหลักการกาลามสูตรหรือการที่จะหาหนังสือหรือข้อมูลมาอ้างอิง หนังเราบอกทุกเล่มนะที่เราใช้เป็นฐานข้อมูลนะ ซึ่งในเครดิตตอนท้าย เราจะมีหนังสือหลายเล่มเลยให้คุณไปศึกษาข้อมูลนะ แต่ประเด็น คือ ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์เรา แกก็ไม่ได้ยกหนังสือเล่มไหนมาเลยนะ

สุดท้ายทุกอย่างมันต้องพิสูจน์ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ พิสูจน์ด้วยข้อมูลปฐมภูมิ ไม่ใช่ข้อมูลที่คนรุ่นหลังวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ซึ่งเราก็พยายามที่จะใช้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลชั้นต้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความคิดเห็นหรือการปรุงแต่งจากคนยุคหลังอยู่แล้ว ดังนั้นหากสงสัยในความเชื่อและความถูกต้องจากในหนัง โปรดไปสืบค้นข้อมูลอ้างอิงในท้ายเครดิตได้เลย 

ส่วนเรื่องการโจมตีสถาบันปรีดี ผมคิดว่าตอนที่หนังออกมาใหม่ ๆ ไม่มีใครไปสนใจสถาบันปรีดีเลยนะ (ร้อนตัว) เพราะเรายังอ้างอิงข้อมูลจากสถาบันปรีดีมาใช้กับหนังเลยด้วยซ้ำ แต่ที่มันมีประเด็นต้องไปวิพากษ์วิจารณ์สถาบันปรีดี ก็เพราะเนื่องมาจากมีจดหมายหนึ่งที่ทางคุณพิภพ ธงไชย นำมาเสนอ รวมถึงมีผู้หลักผู้ใหญ่ในสถาบันปรีดีได้ออกคลิปที่ค่อนข้างแรงในเชิงใส่ร้ายพวกเราพอสมควร โดยกล่าวหาว่า พวกเรารับเงินกองทัพมาทำหนังแอนิเมชันเรื่องนี้ มีการทำไอโอ แล้วบิดเบือนใส่ร้าย จากนั้นก็ขู่ว่าจะฟ้องเราด้วย 

นี่คือสิ่งที่มีผู้เริ่มกับพวกเรา (คนทำหนัง) ก่อนทั้งนั้น ผมไม่ได้เริ่มอะไรเลย และเอาตามความจริง ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะเคารพและให้เกียรติอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ อย่างมาก ในฐานะที่ท่านได้สร้างชื่อเสียงกับประเทศในการนำดนตรีไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี และผมก็ไม่ได้มองว่า อาจารย์ดุษฎี กับ ปรีดี เป็นคนเดียวกัน พ่อก็ส่วนพ่อ ลูกก็ส่วนลูก แต่เมื่อมีประเด็นใส่ร้ายว่า เราเอาภาษีประชาชนมาทำหนังใส่ร้ายปรีดี ทั้งที่ผมยังไม่ได้ไปกล่าวหาอะไร แบบนี้มันเป็นธรรมกับผมหรือเปล่า ผมก็อยากรู้เหมือนกัน

>> ส.ศิวรักษ์: สื่ออยู่ในมือคุณครับ พูดยังไงก็พูดได้
>> นายวิวัธน์: เฮ้ย!! ตั้งแต่เปิดตัวแอนิเมชันมา สื่อกระแสหลักอย่างช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง NBT หรือสื่ออย่าง The Standard ไม่มีใครมาช่วยโปรโมตให้เราเลยนะ จะมีก็จะเป็น Top News มีผู้จัดการออนไลน์ มี Nation มี THE STATES TIMES มีแนวหน้า มีไทยโพสต์ ที่มาช่วยโปรโมตเพราะประโยชน์ของงานเราให้บ้าง ซึ่งสื่อเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในมือผมนะครับ 

ขณะเดียวกันผมก็ใช้เงินกับสื่อน้อยมาก เช่น ผมบูสต์โพสต์ในเฟซบุ๊ก วันละ 100 บาทเท่านั้น ส่วนใน Google หรือ YouTube หรือ TikTok ก็ไม่ได้บูสต์เลย เพราะเรามีเงินจำกัดมาก ส่วนสื่อต่าง ๆ ที่มาสัมภาษณ์แล้วนำไปลง ผมก็ไม่ได้จ่ายเงินซื้อพวกเขานะ แต่แค่เพราะหนังมันเป็นกระแสแล้ว สื่อก็เริ่มเข้ามา แล้วบางสื่อที่ได้รับชมแอนิเมชันด้วยแล้ว และเขารู้สึกว่ามันมีประโยชน์ เขาก็เริ่มช่วยโปรโมตให้ ซึ่งบางสื่อเราแบบไม่คาดคิดเลยว่า เขาจะกลับมาช่วยโปรโมตให้เราด้วย

>> ส.ศิวรักษ์: ถึงกับตั้งหอประชุมใหญ่ ในกองทัพบก ‘หอประชุมบวรเดช’ ทั้งที่ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นกบฏ ที่พระปกเกล้ายังใช้คำนี้เอง

>> นายวิวัธน์: ที่บอกว่าไปเชิดชูกบฏบวรเดช ในหนังเราไม่ได้เชิดชูนะ แต่ในหนังแสดงให้เห็นว่า พระองค์เจ้าบวรเดช ท่านก็ฝ่าฝืน เพราะว่ารัชกาลที่ 7 ทรงห้ามแล้วว่าอย่าทำ และพระองค์เจ้าบวรเดชเองยังต้องเขียนจดหมายเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษด้วยที่ได้ยกทัพมาโดยพลการ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็ทรงห้ามแล้ว และนั่นจึงเป็นเหตุทำให้รัชกาลที่ 7 ต้องทรงหนีไปสงขลา เพื่อไม่ให้ทั้งฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลดึงท่านไปอยู่ร่วม เพราะท่านยืนยันหนักแน่นแล้วว่าจะไม่ยุ่งด้วย ท่านจะขอเป็นคนกลาง ท่านจะไม่เข้ากับฝ่ายไหนทั้งสิ้น

แล้วในส่วนที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่า ทำไมต้องเชิดชูกบฏบวรเดช โดยไปตั้งชื่อหอประชุมนั้น ต้องเรียนแบบนี้ว่า ปรีดี ก็เคยก่อกบฏนะ เป็น ‘กบฏวังหลวง’ หรือคุณจะเรียกเป็นอะไรก็ตาม แต่นั่นก็คือ กบฏที่อาจารย์ปรีดีเป็นหัวหน้ากบฏ และในวันนี้ยังมีสถาบันปรีดีได้เลย จะบอกว่ากบฏบวรเดชเป็นสิ่งไม่ดี แต่กบฏวังหลวงเป็นสิ่งดี แบบนี้ก็ได้หรือ ทั้ง ๆ ที่มันก็กบฏเหมือนกันเนี่ยนะ

>> ส.ศิวรักษ์: เอะอะก็เจ้าดีหมด ไพร่เลวหมด คนที่ทำหนังเรื่องนี้ก็เป็นไพร่ มันไม่สำนึกตัวเองเลยว่าควรจะเข้าใจราษฎร

>> นายวิวัธน์: ทําไมไพร่ไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดแตกต่างจากคุณหรือ แม้ผมจะเป็นไพร่ แต่ผมก็มองเห็นว่าใครทำประโยชน์ให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือเป็นเจ้า ถ้าใครทำประโยชน์ให้กับประเทศ เราก็สมควรที่จะเชิดชู อย่างพวกคุณก็ไม่ได้เชิดชู อาจารย์เสนีย์ ปราโมช ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ทำประโยชน์ให้กับประเทศ จริงไหม?
>> ส.ศิวรักษ์: พอออกแบบเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการที่อังกฤษทำหลังสงครามโลกที่สองแล้ว ก็มีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์มาเล่นงานท่านเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์
>> นายวิวัธน์: ไม่ใช่ เรื่องนี้ยังไงก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ของอังกฤษด้วย ผมว่าหลังจากทุกคนที่ได้ดูแอนิเมชันเรื่องนี้แล้ว และก็ไปหาสมุดปกเหลืองอ่าน ก็จะเห็นได้ชัดเจนนะครับว่ามันไม่ใช่
>> ส.ศิวรักษ์: อยากให้คนที่ออกมาว่าปรีดี เรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ เรียนรู้แบบคนที่ชอบหาข้อเท็จจริง และออกมายืนหยัดเพื่อความถูกต้องดีงาม ไม่เชื่อการมอมเมาจากหนังสวะพวกนี้ครับ

>> นายวิวัธน์: ในอดีตนะครับอาจารย์ปรีดีก็เคยเรียก ส.ศิวรักษ์ ว่า ‘สวะสังคม’ และก็ดู ส.ศิวรักษ์จะภาคภูมิใจกับฉายานี้มากด้วย การที่ ส.ศิวรักษ์ บอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังสวะ ผมก็คิดว่าอาจจะเป็นคำชมก็ได้นะ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง

แต่ทั้งนี้ผมก็อยากจะบอกว่า ไม่ต้องเชื่อหนังทั้งหมดหรอก ไปหาข้อมูลที่เราที่สืบค้นได้ ซึ่งตรงท้ายเครดิตของหนังมีบอกไว้หมดแล้ว (กดหยุดแล้วไล่ดูที่มาได้เลย) สามารถไปสืบค้นดูความจริงได้เลย ศึกษาก่อน แล้วอยากคัดค้านหรือแย้ง ก็ย่อมทำได้ เพราะประเทศเราเป็นประชาธิปไตย เราสามารถเห็นต่างกันได้ เหมือนอาจารย์เห็นต่างกับผม อาจารย์ก็ด่าผมได้ อาจารย์ก็วิจารณ์ได้ ส่วนผมก็แค่ทำคลิปนี้เพื่อมาอธิบายว่า ‘อาจารย์วิจารณ์อะไรของอาจารย์วะเนี่ย’ อย่างเช่น กรณีสมุดปกเหลืองเป็นรัฐสวัสดิการเอย หรือ รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 มีสาระแค่เรื่องตั้งนายกฯ อย่างเดียว เป็นต้น

>> ส.ศิวรักษ์: คนรุ่นใหม่จะต้องรวมตัวกันแล้วเอาชนะทรราชให้ได้
>> นายวิวัธน์: ต่อสู้กับทรราช? มันคนละแนวคิดกับแนวทางของผมนะ เพราะผมมองว่า คนทุกคนล้วนมีประโยชน์ เพียงแต่ทุกคนต้องหันมาหาจุดลงตัว แล้วก็ต้องมาคุยกัน ต้องมาร่วมมือกัน เพราะว่าทุกฝ่ายทุกคนล้วนมีประโยชน์ต่อชาติ ภายใต้ข้อดี จุดเด่นของตัวเอง ที่สามารถนำร่วมมือกันทำงานได้

คำถามคือตอนนี้ ส.ศิวรักษ์ มองใครเป็นทรราช มองฝ่ายอธรรมเป็นทรราชหรือเปล่า อย่างตอนนี้ผมคงรับบทเป็นฝ่ายอธรรมไปแล้ว เป็นฝ่ายอธรรม เพราะผมเอาความจริงมาเล่า แบบนั้นใช่หรือไม่ มันเป็นวิธีของฝ่ายธรรมะแบบพวกคุณหรือ แล้ว ส.ศิวรักษ์ จะต่อสู้กับทรราชด้วยวิธีแบบนั้นหรือ ต้องการสร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมางั้นหรือ คุณรู้ตัวไหมว่าตอนนี้คุณกำลังสร้างปีศาจขึ้นมานะ คุณเองที่กำลังสร้างทรราช แต่บอกคนอื่นห้ามสร้างตัวร้าย

อย่างไรก็ตาม ผมยินดีในการที่ ส.ศิวรักษ์ มาวิจารณ์หนังเรื่องนี้ แต่ขอบอกตามตรงว่า ส.ศิวรักษ์ ไม่ได้เข้าใจแอนิเมชันของเราเลย แล้วก็พูดในสิ่งที่แอนิเมชันเราไม่ได้ทำด้วย

ฉะนั้นใครที่ดูคลิป ส.ศิวรักษ์ แต่ยังไม่ได้ดูแอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution’ แนะนำว่าลองไปดูด้วยตัวเองก่อนว่า หนังเรื่องนี้เล่าแบบไหน เพราะบางทีมันอาจจะไม่ได้เล่าแบบที่ ส.ศิวรักษ์ พูดก็ได้ 

สุดท้าย อยากให้ทุกท่านยึดหลักกาลามสูตรตามที่ ส.ศิวรักษ์ กล่าวอ้าง อย่าเชื่อในสิ่งที่ใครมาพูดให้ฟัง โดยเฉพาะอย่าเชื่อในสิ่งที่ ส.ศิวรักษ์ บอก

ขอบคุณครับ