ฟองสบู่ Forest City เมืองใหม่แห่งอนาคตในมาเลเซีย โครงการยักษ์ 3.6 แสนล้าน ที่กำลังกลายเป็นเมืองร้าง

หากนับย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อย น่าจะตื่นเต้นกับโครงการพัฒนาเมืองใหม่ ระดับเมกะโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Forest City’ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัท เอสพลานาด แดงกา 88 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และ ‘คันทรี การ์เดน’ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ ของจีน ในเขตพื้นที่ของรัฐยะโฮร์ ที่เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) 

โดยโครงการนี้ ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกราวๆ ปี พ.ศ. 2549 ที่หวังจะให้เป็นส่วนหนึ่งในแผน Belt and Road Initiatives มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่ในเขตรัฐยะโฮร์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ครบครันด้วย อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับประชากรได้ถึง 7 แสนคน 

และยังเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ บริษัท คันทรี การ์เดน อีกด้วย หลังจากมีการนำเสนอ โครงการมานานถึง 10 ปี Forest City ก็ได้รับการอนุมัติก่อสร้างโดย อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2578 

แต่ทว่า วันนี้ Forest City ที่ผู้สร้างโปรโมตว่าจะกลายเป็นเมืองสวรรค์ในฝันของคนมีอันจะกิน มีแววจะกลายเป็นเมืองร้าง (Ghost Town) ไปเสียแล้ว เมื่ออาคารหลายแห่งสร้างแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง แต่กลับมีคนที่มาอยู่จริงน้อยมาก 

วันนี้เราจึงเห็นแต่ภาพตึกสูงระฟ้า เรียงรายเต็มพื้นที่หน้าชายหาด ยาวเหยียดเป็นกิโลของ Forest City ที่ถูกทิ้งร้าง มืดมิด เงียบเหงา ไร้ผู้คน และรถรา นอกจากเสียงจิ้งหรีดเรไรดังสนั่นทั่วบริเวณ

ชาวมาเลเซียบางส่วน ที่เข้ามาจับจอง ซื้อห้องพักใน Forest City ในช่วงเปิดโครงการด้วยความหวังว่าจะได้อยู่ในย่านสังคมเมืองใหม่อนาคตไกล ต่างรู้สึกผิดหวัง และ ต้องการย้ายออกเพราะเริ่มไม่ไหวจะทนกับบรรยากาศอันแสนวังเวง ถ้าจะมีข้อดีเพียงอย่างเดียวใน Forest City ณ ขณะนี้ คือ ความเงียบสงบสำหรับคนที่ต้องการปลีกวิเวกอย่างแท้จริง

สาเหตุที่โครงการยักษ์ Forest City ผิดเป้าค่อนข้างไกล แถมมีโอกาสที่จะกลายเป็นเมืองผีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น เกิดจากหลายปัจจัย 

และสิ่งที่ประเมินพลาดที่สุดอย่างแรกคือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายในช่วงเปิดโครงการ ที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีฐานะตั้งแต่ระดับกลาง - สูง เป็นหลัก ที่กำลังมองหาสินทรัพย์ลงทุนในต่างแดน แทนที่จะเป็นชาวมาเลเซียทั่วไป จึงทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์ วิจารณ์จากชาวมาเลเซียจำนวนมากว่าเป็นการสร้างเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนจีนเป็นสำคัญมากกว่าชาวมาเลเซียเจ้าของประเทศ 

เมื่อเน้นไปที่ตลาดจีน โครงการนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายปิดเมืองนานนับปี ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังถดถอยหลังวิกฤติการระบาด จึงทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของ Forest City ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้งปัญหาด้านการเงินของ บริษัทคันทรี การ์เดน ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักในโครงการนี้ จากวิกฤตฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ประชาชนทั่วไปที่กำลังพิจารณาเช่า-ซื้อ ทรัพย์สินในโครงการ Forest City กับอนาคตที่คาดเดาได้ยากว่า คันทรี การ์เดน จะกลับมาฟื้นสภาพ รอดพ้นจากภาวะหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนได้เมื่อไหร่ 

รวมถึงปัจจัยด้านกำลังซื้อของชาวจีนที่ไม่เหมือนเดิม จากที่ประเมินในช่วงก่อนวิกฤติ Covid-19 ทำให้ Forest City จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธการตลาดหลายครั้ง จากการสร้างเมืองใหม่เพื่ออยู่อาศัยของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ ที่เน้นไปที่เศรษฐีชาวจีนเป็นหลัก ถูกเปลี่ยนมาเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวจีน และ มาเลเซีย ซึ่งสามารถกระตุ้นยอดจองโรงแรม ที่พักในเมืองได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถลบล้างภาพเมืองร้างขนาดมหึหาออกไปได้

ล่าสุด เมื่อ สิงหาคม 2566 นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ก็ออกมาช่วยสนับสนุนโครงการ Forest City อีกครั้งด้วยการประกาศยกระดับพื้นที่เมืองนี้ให้กลายเป็น ‘เขตการเงินพิเศษ’ เพื่อจูงใจนักลงทุนด้านการเงิน และ แรงงานทักษะสูงเข้ามาช่วยกู้เมือง โดยมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านวีซ่า และ ภาษีในอัตราพิเศษ และยังสนับสนุนให้มีการจัดงานอีเวนต์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยหวังที่จะปลุกเมืองนี้ให้กลับมาเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ให้สมกับเป้าหมายและเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วมากมายมหาศาล

ดังคำกล่าวที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน โปรเจกต์ 20 ปี อย่าง Forest City ก็เช่นกัน ที่อาจต้องใช้เวลาต่อจากนี้อีกสักระยะ ว่าเมืองแห่งนี้ จะกลายเป็นเมืองใหม่ของมนุษย์ หรือ เป็นจะเพียงสุสานของซากตึก


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Business Insider / Infoquest