ผลสำรวจพบ UK เป็นชาติที่มีความทุกข์มากสุดอันดับ 2 ของโลก สุขภาพจิตดำดิ่งตั้งแต่โควิดระบาด ยังไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัว

(11 มี.ค.67) สหราชอาณาจักรกลายเป็นชาติที่ไร้ความสุขมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จากผลสำรวจที่จัดทำโดย Sapien Labs กองทุนประสาทวิทยาศาสตร์ โดยผลสำรวจพบ สุขภาพจิตของชาวสหราชอาณาจักรดำดิ่งนับตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และยังไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัว

รายงานประจำปี ‘สถานะทางจิตของโลก’ Mental State of the World ของ Sapien Labs ซึ่งปีนี้จัดทำเป็นปีที่ 4 ได้ทำการประเมินสุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) ของผู้เข้าร่วมทางอินเทอร์เน็ต 419,175 คน จาก 71 ประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ได้ให้ภาพอันมัวหมองของโลกที่พูดภาษาอังกฤษ โดยใน 71 ประเทศ บรรดาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (Anglophone) ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย.และนิวซีแลนด์ อยู่ในลำดับล่างๆ โดยเฉพาะพลเมืองสหราชอาณาจักรที่มีความสุขมากกว่าประชาชนชาวอุซเบกิสถานเท่านั้น

ผลสำรวจจัดให้สหราชอาณาจักร ตามหลัง เยเมน 8 อันดับ และตามหลังยูเครน 12 อันดับ ในแง่ของสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชน โดยประชาชนชาวสหราชอาณาจักรราว 36% บอกกับ Sapien Labs ว่าพวกเขาทั้ง "เป็นทุกข์และกำลังประสบปัญหา" ลดลงเพียงแค่ 0.7% จากปีที่แล้ว ครั้งที่พวกเขารั้งที่สุดท้าย ในการจัดอันดับ

เพื่อสรุปถึงสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชนในแต่ละชาติ กองทุนแห่งนี้ได้ถามคำถามแต่ละคน 47 คำถาม เกี่ยวกับ ‘อารมณ์และทัศนะ’ ของพวกเขา อัตมโนทัศน์ด้านสังคม (Social-Self) แรงผลักดันและแรงจูงใจ การปรับตัวและความยืดหยุ่น เช่นดียวกับอื่นๆ แม้ Sapien Labs คำตอบของคำถามเหล่านี้เป็นลักษณะคำตอบแบบอัตนัย แต่รายงานต่างได้ผลสรุปออกมาคล้ายๆ กัน

ท่ามกลางมาตรฐานการดำรงชีพที่ตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักรเผยแพร่รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พบว่า ชาวสหราชอาณาจักรมีความสุขและความพึงพอใจส่วนบุคคลลดลงในช่วงขวบปีสิ้นสุดเดือนมีนาคมปีก่อน และจากรายงานที่เผยแพร่ในนิตยสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อเดือนที่แล้ว พบว่าประชาชน 1.8 ล้านคน ปัจจุบันกำลังรอการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิต

ทั้งนี้ Sapien Labs ระบุว่า ระดับความผาสุกทางจิตของโลกที่พูดภาษาอังกฤษดำดิ่งลงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และภาวะตกต่ำนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานพบว่าความผาสุกทางจิตใจลดต่ำลงในประเทศต่างๆ ที่รับประทานอาหารแปรรูปโดยทั่วไป เด็กๆ มีสมาร์ทโฟนตั้งแต่อายุยังน้อย และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเหินห่าง ซึ่งประเทศต่างๆ ที่พูดภาษาอังกฤษทำคะแนนได้ค่อนข้างน้อยในมาตรวัดทั้ง 3 นี้

สาธารณรัฐโดมินิกันรั้งอันดับสูงสุดในบัญชีประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ส่วนอันดับ 2 เป็นของศรีลังกาและแทนซาเนีย ตามมาเป็นอันดับ 3 โดยทุกประเทศที่ติดอันดับท็อปเท็นมาจากแอฟริกา เอเชีย หรือไม่ก็ละตินอเมริกา "รูปแบบดังกล่าวบ่งชี้ว่าความมั่งคั่งและเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งความผาสุกทางจิตใจ" Sapien Labs ระบุ