7 มีนาคม พ.ศ. 2494 รำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร’ อธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ผู้แยกหน้าที่ 'แพทย์-เภสัชกร' ตามแบบแผนที่ถูกหลัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) โดยประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังให้ประสูติกาลพระราชโอรสได้ 12 วัน เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่องก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ด้วยพระองค์เองพร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง” สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงรับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ไว้อุปการะพร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยทรงเลี้ยงดูพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดชเหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง

เสด็จในกรมฯ ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และยังทรงได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิดในเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และความรู้ทั่วไปจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกเดินทางไปยุโรปเพื่อรับการศึกษาที่ประเทศเยอรมัน เสด็จในกรมฯ เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม เมืองฮัลเบอร์สตัด และทรงเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเมืองไฮเดิลแบร์ก ทรงสนพระทัยที่จะศึกษาวิชาแพทย์มานานแล้ว แต่สมเด็จพระบรมชนกนาถรับสั่งว่า พระพลานามัยไม่สมบูรณ์ วิชาทหารและวิชาแพทย์ไม่เหมาะสม จึงทรงแนะนำให้ศึกษาวิชากฎหมายแทน ซึ่งจะน่ากลับมาช่วยบ้านเมืองได้มากมาย

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ ‘กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร’ ทรงรับราชการเป็น ‘ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง’ กระทรวงธรรมการ และรับหน้าที่เป็น ‘ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย’

พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรี สวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้ศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์

พ. ศ. 2460 ทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงเพิ่มคณะใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ และให้โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์เพิ่มระยะเวลาการศึกษาเป็น 6 ปี

พ.ศ. 2460 ทรงจัดตั้งกองนักเรียนแพทย์เสือป่า และทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง

พ.ศ. 2461 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก สมัยนั้นคำว่า ‘สาธารณสุข’ ยังเป็นคำใหม่ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจ จึงทรงวางรากฐาน ประสัมพันธ์และวางแผนจัดทำโครงการ แบ่งงานสาธารณสุขในพระราชอาณาเขตเป็นสาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงห่วงใยเรื่องหลักสูตรแพทย์ปรุงยา โดยทรงรับสั่งกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่า

“เรื่องการเภสัชกรรมนั้นมีความสำคัญมาก สมควรที่ต้องมีกฎหมายบังคับคุ้มครองขึ้น จัดให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ของแพทย์และเภสัชกรตามแบบแผนที่ถูกต้อง ตลอดจนถึงการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของยาตามแบบยุโรป เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน”

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขทรงริเริ่มงานการศึกษาและฝึกอบรม นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานสำคัญที่คนโดยมากไม่ใคร่รู้ ซึ่งก็คือการที่พระองค์ทรงจัดให้มี ‘กองกำกับโรคระบาด’ ขึ้น ทำให้มีการกักกันผู้เป็นโรคและผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเมื่อเดินทางเข้ามาในสยาม ซึ่งรู้จักกันในสมัยนี้ว่า State quarantine

อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศได้มีการจัดวัคซีนหมู่ ป้องกันโรคระบาด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับยุคนั้น ทรงให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ อีกทั้งได้ทรงออกมาตรการใหม่ขึ้นมาปราบปราม โรคร้ายต่าง ๆ ที่เคยมีและพบมากในประเทศ เช่น ไข้มาลาเรีย โรคเรื้อน และอหิวาตกโรค จึงได้ถูกควบคุมและเริ่มลดลงไปตามลําดับ ซึ่งในกาลต่อมาหน่วยงานเหล่านี้ได้วิวัฒนาการ มาเป็น กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ภายใต้กรมควบคุมโรค จนพัฒนามาเป็นสถาบันวัคซีนแห่งชาติในปัจจุบัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการควบคุมโรคระบาดด้วยความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ การกักกันผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยว่ามีเชื้อโรค (Maritime quarantine) รวมไปถึงการริเริ่มฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและปราบปรามโรคระบาด ในสยามประเทศ ล้วนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคนี้ ทรงรับใช้ชาติโดยการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขอยู่ถึง 7 ปีเต็ม จนพระองค์ทรงลาออกจากราชการเมื่อต้นปี 2468

หลังจากเกษียณจากราชการแล้ว ก็ทรงดำเนินชีวิตส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงงานศิลปะ ออกแบบ ตกแต่งภายในจากผลงานศิลปะและโบราณวัตถุที่ทรงสะสมทั้งจากต่างประเทศและภายในประ เทศ อันเป็นที่ชื่นชมกันว่าทรงมี ‘ตาดี’ ในเรื่องงานศิลปะ ที่ทรงสืบทอดมาจาก สมเด็จพระราชบิดา ทรงงานอดิเรกถ่ายภาพและถ่ายภาพยนตร์โดยทรงเป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง ‘สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม’ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการพัฒนาที่ดินรุ่นแรกๆ ของสยามอีกด้วย

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ณ วังถนนวิทยุ เมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2494 ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย เป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระชนม์ยืนที่สุดด้วยพระชนมายุ 65 ปี 4 เดือน