'รทสช.' มีมติรับหลักการ 'ร่างพ.ร.บ.กลุ่มชาติพันธุ์' ที่เสนอโดย ครม. แต่ปัดตก 3 ร่างเสนอประกบ ที่มีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ไม่นานมานี้ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานการประชุม สส.ของพรรค โดยมี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ประธาน สส. และเลขาธิการพรรค รวมทั้ง สส.ของพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยหารือถึงประเด็นการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ...ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคได้พิจารณารายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่เสนอโดย ครม. รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะเดียวกันที่เสนอโดยพรรคการเมืองและเสนอโดยภาคประชาชนอีก 3 ร่าง โดยที่ประชุมพรรค ได้อภิปรายเนื้อหากันอย่างกว้างขวาง และมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยครม. ส่วนอีก 3 ร่าง พรรคพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื้อหาจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงต่อประเทศไทยในอนาคตแน่นอน จึงไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ของพรรคการเมืองและภาคประชาชนอีก 3 ร่างกำหนดให้มีสภาชนเผ่าพื้นเมือง จึงทำให้พรรคมีความห่วงใยในเรื่องภัยความมั่นคงของชาติในอนาคต เพราะการตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมือง จะเป็นปัญหาในด้านการปกครองตนเองในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่พรรคไม่เห็นด้วย

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า สาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฉบับของคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้สิทธิในด้านต่าง ๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีกว่า 60 ชาติพันธุ์ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งสิทธิที่ดินทำกิน สิทธิความเป็นคนไทย สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิต่าง ๆ ทางกลุ่มจะได้รับเหมือนกับเป็นคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้เรียกร้องและต้องการ โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้

“พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการเฉพาะในส่วนร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาล เพราะให้สิทธิทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนอีก 3 ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอให้สภาฯ พิจารณาโดยมองว่า จะกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคตแน่นอน เพราะจะมีการแบ่งแยกการปกครอง ขณะเดียวกันประเทศไทยเราได้เคยไปแถลงที่องค์การสหประชาชาติว่า ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยมีแต่กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ได้ให้ความคุ้มครองความเป็นคนไทย ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหนจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ” นายอัครเดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 ก.พ.67 สภาก็ได้มีมติรับร่างหลักการกฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้ง 5 ฉบับ ที่มาจาก สภาชนเผ่าฯ, กระทรวงวัฒนธรรม, พีมูฟ, พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เพื่อนำไปสู่การเสนอชื่อกรรมาธิการต่อไป โดยทั้ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย…

1.ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าฯ
2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย ศมส. กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล
3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ
4.ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพรรคเพื่อไทย
5. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพรรคก้าวไกล

โดยภายหลังจากที่ได้รับฟังการนำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ก็มีสมาชิกในที่ประชุมได้แสดงความประสงค์ร่วมอภิปรายทั้งสิ้น 25 คน ประกอบด้วย สส. ฝ่ายรัฐบาล 21 คน และพรรคฝ่ายค้านอีก 5 คน ถึงแม้ว่าในช่วงท้ายก่อนจะมีการลงมติ เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ยื่นญัตติขอให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงมติจากเดิมที่จะลงมติรวมทั้ง 5 ฉบับ เป็นการลงมติรายฉบับ แต่ในท้ายที่สุดสภาก็มีเสียงส่วนใหญ่รับร่างหลักการทั้งหมด และนำไปสู่การเสนอชื่อกรรมาธิการต่อไป