13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันรักนกเงือก’ สัตว์ป่าโบราณ สัญลักษณ์แห่งรักแท้ 1 ในสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะความเชื่อของมนุษย์

13 กุมภาพันธ์ ‘วันรักนกเงือก’ สัตว์ที่ถูกคุกคามเพราะความเชื่อจนใกล้สูญพันธุ์ นำหัวและโหนกมาทำของขลังและเครื่องประดับ

‘นกเงือก’ เป็นสัตว์โบราณสืบสายพันธุ์มานานราว 60 ล้านปี หลายคนอาจรู้จักมันในฉายา ‘สัญลักษณ์แห่งรักแท้’ เพราะนกเงือกเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต หากตัวผู้ที่ออกไปหาอาหารตาย ตัวเมียและลูกน้อยที่รออยู่ในรังก็จะไม่ออกไปไหนและรอจนตัวตายเช่นกัน

นอกจากเรื่องราวความรักที่มีต่อสายพันธุ์เดียวกันแล้ว นกเงือกยังส่งต่อความรักให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นในผืนป่าและมนุษย์ด้วย

โดยการดำรงอยู่ของพวกมันจะช่วยขยายพันธุ์พืชได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกินผลไม้ได้กว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ แล้วปลูกเมล็ดด้วยการขับถ่ายและขย้อนออกทางปาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นผู้ล่าสำคัญของระบบนิเวศป่า จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก อย่างแมลงและหนูได้ด้วย ด้วยเหตุนี้นกเงือกจึงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า

สำหรับในประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด แต่น่าเสียดาย ที่ ‘นักปลูกป่ามือฉมัง’ อย่างนกเงือก กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์ที่ไล่ล่าหมายหัวพวกมันเพียงเพราะความเชื่อและค่านิยมในการนำหัวและโหนกของนกเงือกมาทำของขลังและเครื่องประดับ ทำให้หลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น ‘วันรักนกเงือก’ เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ทุกขณะ

ในวันสำคัญนี้จึงถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องช่วยกันปกป้องรักแท้นี้ไว้ ก่อนที่ความรักอันยาวนานของนกเงือกจะจบลงที่ยุคของเรา…