ขอนแก่น-"มข." จัด"โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน"ทางเลือกหนึ่งพลังงานทดแทน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกทางเลือกหนึ่ง โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการขาย ให้เช่าหรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนขยายผลและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve สามารถ คว้าโอกาส ชิงความได้เปรียบ แข่งขันได้ทันกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน เพราะในปัจจุบันการใช้งานแบตเตอรี่ของประเทศไทยนั้นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
เมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 ที่ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม, ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด ,ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ,นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น ,รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ และนายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว ”โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน" โดยมี คณะผู้บริหาร มข.,ผู้บริหารบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด และสื่อมวลชนทุกแขนง ร่วมฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ Research Transformation คือการปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยโดยปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัยไปสู่การทำวิจัยเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ (Impact) สูง และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม (Societal Contributions) และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live)เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เช่น การสนับสนุนนโยบายด้านการขนส่งพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับ"โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน" เป็นตัวอย่างโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งวันนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองอธิการบดี
ฝ่ายบริหาร ผู้ดูแลโครงการ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม ผู้รับผิดชอบดูแลเรื่อง Net Zero ของมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ตลอดจนบริษัทออสก้าโซลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ให้บริการจักรยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการผลิตแบตเตอรี่ภายใต้แบรนด์ UVOLT (ยู-โวลต์) ซึ่งผลิตโดยโรงงานแบตเตอรี่ และพลังงานยุคใหม่ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ โรงงานยังมีการผลิตและพัฒนาส่วนประกอบของแบตเตอรี่ ชนิดต่าง ๆ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งชนิดลิเทียมไอออนและโซเดียมไอออน ที่มีมาตรฐานระดับสากลในปัจจุบันการใช้งานแบตเตอรี่ของประเทศไทยนั้นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการออกมาตรการสนับสนุนที่จำเป็นในการขยายผลและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถ คว้าโอกาส ชิงความได้เปรียบ แข่งขันได้ทันกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุตามยุทธศาสตร์ Green and Smart Campus เพื่อให้เป็นองค์กรแบบชาญฉลาด คำนึงถึงผลกระทบด้ำนสิ่งแวดล้อม สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ Great place to live เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการให้สิทธิเอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยการขาย ให้เช่าหรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมบริหารจัดการระบบอำนวยความสะดวก และติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station : BSS) เพื่อจัดหาผู้ประกอบการ และให้สิทธิ์ในการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อการต่อยอดการใช้งานภายในจังหวัดขอนแก่นต่อไป
ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายสำคัญที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโครงการสำคัญตามแผนที่สนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร ในกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ อาคารกีฬา อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ (Solar Floating) ในบ่อสำรองน้ำดิบของมหาวิทยาลัย รวมประมาณ 9.5 เมกกะวัตต์ และติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียอีกประมาณ 10 เมกกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการหันมาใช้พลังงานทดแทน ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ด้วยเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานอย่างสูงสุด และยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางอ้อม ได้อย่างมีนัยสำคัญสำหรับ "โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งมั่นที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่ง โดยใช้ยานพาหนะไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วน มรว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าในนามบริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งได้เป็นผู้รับสิทธิ์ในโครงการ "จัดบริการยานยนต์ไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน"ของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด เราให้บริการออกแบบและประกอบแบตเตอรี่แพค ลิเที่ยม สำหรับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องมีออุตสาหกรรม รวมไปถึงแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามากว่า 30 ปี ออสก้า เป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทย ที่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ และประกอบ โดยร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับโรงงานแบตเตอรี่ลิเที่ยมไออ้อนต้นแบบของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายในการยกระดับแบตเตอรี่ที่ผลิตได้เองในประเทศไทยไปสู่มาตรฐานระดับสากล
หากย้อนไปเมื่อปี 2557 ในช่วงที่ยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ออสก้าได้เริ่มทำการพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยเป้าหมายเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า EV ที่คาดว่าจะประสบปัญหาเรื่องการให้บริการแบตเตอรี่ ในอีกไม่กี่ปีให้หลัง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง บริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทลูกในเครือของออสก้า ดำเนินการกิจการเป็นผู้ออกแบบ และประกอบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่จะนำมาใช้ในการทดสอบแบตเตอรี่จากออสก้า โดยมีโรงงานตั้งอยู่บนถนนบางนาตราด กิโลเมตรที่ 13 บนพื้นที่ กว่า 3,000 ตรม. มีกำลังการผลิต รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน สตรอม มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ทั้งด้านสมรรถนะ ความเร็ว การประหยัดพลังงานและที่สำคัญ รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า Strom เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวใจหลักคือการมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่เป็นของตัวเอง Strom เป็นบริษัทของคนไทย 100% และมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมของคนไทย เราพิจารณาเลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ในประเทศให้ได้มากที่สุด และลดสัดส่วนวัตถุดิบจากต่างประเทศลงเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมีอระหว่างนักวิจัย สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการคิดค้นของคนไทย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นการรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญา และความมั่นคงทางเทคโนโลยีของไทยอีกด้วย
นายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ในการขับเคลื่อน Smart City กับการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่น กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไว้ 7 สมาร์ท โดยหนึ่งในนั้น คือ Smart Mobility คือ เมืองที่สามารถขนส่ง ติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว ปลอดภัย และใช้พลังงานสะอาดแนวคิดในการพัฒนาเมืองขอนแก่น มาจากการที่เดิมทีจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม ไม่ได้มีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้ง ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจที่ทางรัฐบาลจะมีการส่งเสริมงบประมาณพิเศษ ในการพัฒนาเมืองมาให้เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ แต่สิ่งที่ขอนแก่นมี คือ การเป็นเมืองที่อยู่จุดศูนย์กลางของภาคอีสาน มีมหาวิทยาลัย และศูนย์ราชการต่าง ๆ ค่อนข้างมากดังนั้น โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนซึ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองด้าน Smart Mobility เป็นความสำเร็จด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านยานนต์ไฟฟ้าการจัดการพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม และขยายผลไปสู่นักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปัจจุบัน
นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า แนวทางการสนับสนุนการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น ตามภารกิจหน้าที่ของสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น ขอขอบคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นประโยชน์กับนักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายไปถึงทุกหน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น
เพื่อสร้างแรงจูงใจทางด้านการเงิน และลดต้นทุนในการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้าสามารถสร้างแรงจูงใจที่มิใช่ทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต
ตบท้ายที่ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ กล่าวตอนท้ายสุดว่า อย่างไรก็ตามทางโครงการ ฯ ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือก ในระดับเซลล์จากโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และนำไปทดลองใช้งานจริงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ และระบบกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่สำหรับจักรยานไฟฟ้า แบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ และไฟส่องสว่าง เรามีโมเดลการใช้พลังงานแบตเตอรี่จากโซเดียม คือ E – Bike ที่ประหยัดพลังงานและใช้งานได้จริง ในอนาคตทีมนักวิจัยมีแนวโน้มจะศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน โดยให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูง ราคาประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด ผลักดันให้ไทยกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลกตามเป้าของกระทรวง ฯต่อไป.