21 มกราคม พ.ศ. 2453 วันเกิด ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ บุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ครูเอื้อ’ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า ‘ละออ’ ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น ‘บุญเอื้อ’ และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ‘เอื้อ’ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

1.) หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.) นางเอื้อน แสงอนันต์
3.) นายเอื้อ สุนทรสนาน

ซึ่ง ครูเอื้อ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ แล้วจึงมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท (ภาคบ่าย) โดยครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

ต่อมาได้เรียนดนตรีกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทะยะกร) เริ่มทำงานในกรมมหรสพ และได้ร้องเพลง ‘ในฝัน’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ถ่านไฟเก่า’ เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขณะทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน มีผลงานเพลงกว่า 1,000 เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาล เพลงสถาบัน เพลงรัก เพลงสะท้อนสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย

ตลอดระยะเวลาการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักและอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือ เพลงพรานทะเล

ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน