‘ก.พ.ร.’ แจง!! ข้อมูล ‘แร่ลิเทียม’ ในไทย เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ชี้!! ไทยไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก แต่มีความสมบูรณ์กว่าหลายๆ แห่ง

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่ กรมฯได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน และสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า คำว่า ‘Mineral Resource’ มีความหมายถึง ‘ปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่’ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ‘Lithium Resource’ ซึ่งหมายถึง ‘ปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม’

ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ เป็น ‘แร่เลพิโดไลต์’ (lepidolite) ที่พบใน ‘หินเพกมาไทต์’ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียม หรือเกรดลิเทียมออกไซด์ เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติม หากมีการสำรวจในอนาคต

ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จ.ราชบุรี และ จ.ยะลา

โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แจงว่า ตัวเลข 14.8 ล้านตัน เป็นปริมาณของหินเพกมาไทต์ ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่เฉลี่ย 0.45% เมื่อถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาแล้ว จะได้ลิเทียมประมาณ 6-7 หมื่นตัน

เปรียบเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา โมเดล S หนึ่งคัน ใช้ลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62,600 ตัน

ปริมาณลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ เท่ากับ 6.66 หมื่นตัน ซึ่งหากนำมาเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า ไทยยังห่างไกลจากประเทศ Top 10 เป็นอย่างมาก โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ โบลิเวีย 21 ล้านตัน, อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน, ชิลี 11 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน และ จีน 6.8 ล้านตัน