'นักลงทุนโลก' ฟันธง!! หมดยุค 'คริปโต' ต่อจากนี้ คือ โอกาสยุคทองของ AI

ตามสัจธรรมของโลก ทุกสรรพสิ่งล้วนมีช่วงเวลาของการตั้งอยู่ ดับไป วนไปเป็นวัฏจักร 

แต่ในยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดูเหมือนว่าวัฏจักรที่ว่านี้ จะหมุนไวเป็นพิเศษ 

สังเกตได้จากทิศทางของงานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum งานประชุมชั้นนำที่คัดสรรเฉพาะผู้แทนจากรัฐบาลทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศ, องค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ, นักธุรกิจแถวหน้าของโลก และผู้ที่มีอิทธิพลในสังคมจากสาขาต่าง ๆ มาถกประเด็นกันถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หัวข้อเรื่องธุรกิจเงินคริปโตเคอร์เรนซี เป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอย่างมาก จนเรียกได้ว่า ช่วงเวลานั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ หายใจเข้า-ออก เป็นภาษาคริปโตกันเลยทีเดียว

แต่ทว่าล่าสุดปีนี้ (2024) หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับ AI กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในงาน World Economic Forum ไปเสียแล้ว เบียดธุรกิจคริปโตตกเวทีไปไกลไม่เห็นฝุ่น บริษัทชั้นนำของโลกต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ของตนออกสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก และเชื่อมั่นว่ายุคทองของ AI มาถึงแล้ว พร้อมประกาศชัดว่า ต่อจากนี้ The future is AI.

การพลิกกระแสไปสู่วัฒนธรรม AI เกิดขึ้นเร็วมาก เริ่มจากการเปิดตัวของ ChatGPT โปรแกรมแชต บอท AI ที่พัฒนาโดยบริษัท OpenAI ที่ออกมาเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา และกลายเป็นกระแสหลักที่นักลงทุนทั่วโลกต่างพูดถึง 

และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกต่างถูกกดดันให้แข่งขันเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน AI อาทิ Intel บริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ หรือ Salesforce บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ทุ่มเม็ดเงินลงทุนในงานพัฒนา AI ของตน 

PitchBook บริษัทวิจัยด้านการลงทุน พบว่าบริษัทสตาร์ตอัปด้าน AI และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ได้รับแหล่งเงินลงทุนมากขึ้น และมากกว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เคยเป็นดาวรุ่งเช่นกัน อย่าง ธุรกิจคริปโต และยังสามารถทำรายได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาแค่ไตรมาสเดียว 

นอกจากกระแสตลาดผู้พัฒนา AI จะคึกคักแล้ว บริษัทชั้นนำในหลายประเทศก็ตอบรับกระแส AI และพร้อมจะนำมาปรับใช้องค์กรแล้ว จากการสำรวจประจำปีของบริษัท PwC พบว่าเกือบครึ่ง (42%) ของบริษัทในอังกฤษได้เริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้แล้ว ในขณะที่ 32% ของบริษัทกว่า 4,702 แห่งจาก 105 ประเทศทั่วโลกต่างก็เริ่มปรับปรุงเทคโนโลยีของตนด้วย AI แล้วเช่นกัน 

ด้าน คริสทาลินา จอร์จิวา ผู้อำนวยการ IMF แสดงความเห็นว่า การเติบโตของ AI อาจส่งผลกระทบกับตำแหน่งงานของมนุษย์ถึง 40% ที่อาจทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมแย่ลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มที่จะบูรณาการองค์กรของตนด้วย AI เร็วกว่าที่อื่น ๆ ทำให้โอกาสที่แรงงานมนุษยจะถูกแทนที่ด้วย AI อาจมีสัดส่วนสูงถึง 60% เลยทีเดียว  

เช่นเดียวกับ Goldman Sachs ที่ได้ประเมินไว้เมื่อปี 2023 ว่า AI สามารถใช้แทนที่แรงงานมนุษย์ได้ถึง 300 ล้านตำแหน่ง แต่ในอีกแง่หนึ่ง AI ก็สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้กับมนุษย์ที่ตามกระแสของความเปลี่ยนแปลงทัน แล้วสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตนได้ 

ดังนั้นการเกิดขึ้นในยุคของ AI จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายต้องตระหนักรู้ถึงผลกระทบในหลายมิติต่อผู้คนในสังคมของตน และต้องเร่งพัฒนาความรู้ให้เท่าทันกับโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ให้เป็นมนุษย์ผู้ควบคุมปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่มนุษย์ที่ถูกแทนที่ด้วย AI ในอนาคตอันใกล้

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


อ้างอิง: CNBC / The Guardian / BBC