7 มกราคม ของทุกปี รำลึก 'พระปิ่นเกล้าฯ' พระคุณูปการต่อศิลปวัฒนธรรมของชาติ เจ้านายไทยยุครัตนโกสินทร์ ผู้ทรงไว้หนวดเป็นพระองค์แรก

7 มกราคมของทุกปี กรมศิลปากร, กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (7 มกราคม) ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ พร้อมทั้งให้ข้าราชการกรมศิลปากร เหล่าทัพ หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนเข้าร่วมในพิธีถวายราชสักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

นอกจากนี้ สำนักการสังคีตได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ณ บริเวณลานหน้าพระบวรราชานุสาวรีย์ เพื่อถวายกตเวทิตาคุณและร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ 

สำหรับ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า ‘วังหน้า’ มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก 

นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า ‘ปี่พาทย์เครื่องใหญ่’ เบื้องปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 

ทั้งนี้ เท่าที่หลักฐานปรากฏ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ‘พระปิ่นเกล้า’ ยังเป็นเจ้านายไทยในยุครัตนโกสินทร์ ที่ทรงไว้พระมัสสุ (หนวด) เป็นพระองค์แรก แตกต่างจากเชื้อพระวงศ์ระดับสูงพระองค์อื่น ๆ ที่กว่าจะมาไว้พระมัสสุกันก็ล่วงเข้ารัชกาลที่ 5 อีกด้วย

โดยเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2460 ว่า ผู้ดีเพิ่งจะมาไว้หนวดกันเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นแม้สังเกตดูรูปคนที่ถ่าย จะเป็นเจ้านายก็ตาม ขุนนางก็ตาม ก็โกนหนวดทั้งนั้น ยิ่งราษฎรถ้าใครไว้หนวดก็มักมีฉายาเรียก เช่น นายมากหนวด นายคงเครา เป็นต้น 

ส่วนเหตุผลที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้พระมัสสุ อาจเป็นเพราะทรงนิยมศึกษาหาความรู้วิทยาการจากตะวันตก อย่าง การทหาร ช่างจักรกล ฯลฯ ทั้งยังทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลด้านการต่างประเทศ ความนิยมในตะวันตกของพระองค์ สะท้อนได้อีกจากการพระราชทานนามแก่พระราชโอรสพระองค์หนึ่งว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ซึ่งมาจากชื่อ จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การไว้พระมัสสุ จึงอาจเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งถึงความนิยมชมชอบวัฒนธรรมตะวันตกของพระองค์ก็เป็นได้