26 ธันวาคม พ.ศ. 2547  ครบรอบ 19 ปี ‘สึนามิ’ ถล่มไทย หายนะครั้งรุนแรงจากภัยธรรมชาติ

26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หรือ วันนี้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับหายนะครั้งรุนแรง จากคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2 แสนราย ใน 14 ประเทศในเอเชีย

เหตุการณ์วิปโยคในครั้งนั้น เริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ขนาดความรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

ในเวลา 08.30 น. เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้อีกครั้ง ศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่ละติจูด 20.76 องศาเหนือ 98.04 องศาตะวันออก มีขนาดประมาณ 6.4 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในหลายจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณเกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ (TSUNAMI) ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง

เหตุการณ์สึนามิถล่มไทย 6 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต และโรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

ขณะที่ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากหายนะในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 167,000 ราย หรือใกล้เคียง 200,000 ราย และมีหลายชีวิตมากที่ถูกคลื่นกลืนหายไปในทะเล ไม่มีทางพบร่าง นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของอินโดนีเซีย รวมถึงไทย ศรีลังกา อินเดีย และอีกหลายชาติ รวม 14 ประเทศ