'รศ.ดร.วินัย' วิเคราะห์!! เหตุผลที่ 'ซาอุฯ' ยังไม่ถูกนับเป็นประเทศพัฒนา ภายใต้ห้วงเวลาสั่นคลอนอนาคต หากทรัพยากรน้ำมันหมดไป

(16 ธ.ค.66) รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ซาอุดีอาระเบีย' ระบุว่า...

ปีนี้ 2023 หรือ พ.ศ. 2566 นับถึงเดือนธันวาคม ผมเดินทางมาราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (KSA) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หากนับรวมครั้งอื่นๆ ผมมีโอกาสเยี่ยมเยียน KSA มากกว่าสิบครั้งแล้ว แต่บอกตามตรงว่ายังรู้จักประเทศนี้ไม่ลึกซึ้งสักเท่าไหร่ รู้แต่ว่าประเทศนี้ระยะหลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จุดหมายเป็นเช่นเดียวกับประเทศไทยนั่นคือการก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed country) ซึ่งหมายถึงเวลานี้ KSA ที่แม้มีรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีสูงถึง 21,069 USD มากกว่าที่กำหนดไว้สำหรับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ที่ 12,500 USD ทว่ายังไม่นับเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้นับกันแค่รายได้ต่อหัวประชากรต่อปี แต่นับแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, การศึกษา, สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงด้านเศรษฐกิจของประชากรที่ไม่กว้างมากนัก นับกันหลากหลายเช่นนี้ KSA จึงยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาเนื่องจากรายได้ 85% มาจากการค้าน้ำมัน รายได้จากแหล่งอื่นยังไม่หลากหลาย ประเทศในตะวันออกกลางที่อาจนับเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE ที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาแหล่งรายได้ด้านอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำมัน

เพราะ KSA ยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว จึงทำให้ประเทศนี้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจสาขาต่างๆ เป็นการใหญ่กำหนดวิชั่น Saudi 2030 ผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขจัดความเหลื่อมล้ำของประชากร เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเห็นได้จากการให้สิทธิด้านการศึกษา การประกอบอาชีพของสตรีที่มีมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่าสตรีคือครึ่งหนึ่งของทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศมีอยู่ การที่ UAE ได้รับการจัดเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม OECD ในปี 2023 ช่วยกระตุ้นให้ KSA เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตนเองมากขึ้นเพื่อตาม UAE ให้ทัน ประเทศอย่าง UAE พัฒนาโครงการอวกาศสำเร็จไปแล้ว มีเงินอย่างเดียวจึงไม่ช่วย ต้องใช้สมองและสองมือ ทั้ง work & wisdom เน้นกันอย่างนั้น โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของประเทศทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรม

การบ้านใหญ่ของ KSA คือประเทศจะดำรงอยู่อย่างไรให้มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชากรไม่สั่นคลอนในอนาคตที่ทรัพยากรน้ำมันหมดไปแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้า เพื่อโอกาสใหม่ๆ ของประเทศจึงต้องเร่งทำ สำคัญคือการพัฒนานวัตกรรม (innovation) การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ขึ้นในสังคม KSA กำลังมองโอกาสทางด้านนี้ และมหาวิทยาลัยคือ แหล่งสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นต้นน้ำของการพัฒนาทุกๆด้าน เป็นเหตุผลที่ทางกระทรวงการศึกษาของ KSA ส่งคนระดับรัฐมนตรีและทีมงานจากหลายมหาวิทยาลัยไปเยี่ยมเยียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมและทีม ศวฮ.ต้องเดินทางมาเยือน KSA