คำสอนจาก ‘พ่อ’ การทำความดีที่ไม่จำเป็นต้องอวดใคร หากความสำเร็จนั้นไซร้ กลายเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง

‘ปิดทองหลังพระ’ และ ‘สามัคคี’ คำสอนของ ‘พ่อ’ ที่เน้นย้ำการทำความดี สร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยมิได้หวังลาภยศ ผ่านพระพุทธรูปและพระบูชา 

ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปบูชาพร้อมพระพิมพ์เพื่อบรรจุที่ฐานบัวหงายของพระพุทธรูป เพื่อมอบให้กับจังหวัดและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

‘พระพุทธนวราชบพิตร’ บรรจุพระ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระบูชาทรงสร้าง เพื่อความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ 

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้ามาเป็นปั้นหุ่นพระพุทธรูปสำคัญและเป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปพิมพ์นี้ โดยพระองค์ทรงตรวจพระพุทธศิลป์ด้วยพระองค์เอง จนเป็นพอพระราชหฤทัยจึงได้ดำเนินการเททองในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสำคัญองค์นี้ว่า ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ โดยบริเวณฐานบัวหงายขององค์พระจะมี ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ บรรจุอยู่ด้วย

เมื่อจัดสร้าง ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ แล้วเสร็จ พระองค์จึงทรงพระราชทานไปยังจังหวัดต่างๆ โดยจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

ในโอกาสนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย โดยขออัญเชิญบางตอนมาดังนี้

...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย...

...ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุก ๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป...

‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระพลังแผ่นดิน พระเครื่องที่ไม่ต้องมีพิธีพุทธาภิเษก 

นอกจาก ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ ที่บรรจุไว้ใน ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ แล้วนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงสร้างพระพิมพ์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองอย่างต่อเนื่องมาอีกจำนวนหนึ่ง ให้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ได้สร้างความดี ความชอบและสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อย่างไม่ย่อท้อ ท่ามกลางสถานการณ์ของสงครามเย็นที่มีแต่ความหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของชาติ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓ 

ความพิเศษของ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ เริ่มจากมวลสารที่นำมาจัดสร้าง อันประกอบด้วย... 

มวลสารส่วนพระองค์ อันได้แก่ ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ / เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) / สีจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ / ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง

มวลสารศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ต่างๆ  อันได้แก่ ดอกไม้แห้ง, ผงธูป, เทียนบูชา จากพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ เช่น พระแก้วมรกต, พระพุทธชินสีห์, พระพุทธชินราช และจากพระอารามหลวงที่สําคัญ / น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก / ดินจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งในประเทศอินเดีย เป็นต้น 

ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยทรงใช้เวลาหลังจากทรงพระอักษร และทรงงานอันเป็นพระราชภารกิจหลัก หลังจากนั้นพระองค์ก็จะทรงกดพิมพ์องค์พระทุกองค์ด้วยพระองค์เองจนดึกดื่น บางครั้งก็ถึงรุ่งสาง รวมสร้างองค์พระ ๒,๕๐๐ องค์ ทุกองค์มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน และหมายเลขกำกับทุกองค์ 

นัยยะสำคัญขององค์พระพิมพ์พระราชทาน ‘พระพลังแผ่นดิน’

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ แก่ผู้ใด พระองค์จะทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า... 

“ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ”

“ขณะปิดทองให้ตั้งจิตเป็นสมาธิอธิษฐานขอให้ความดีงามที่มีอยู่ในตัว จงดำรงอยู่ต่อไป และขอให้ยังความเป็นสิริมงคล จงบังเกิดแก่ตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ประสบแต่ความสุขความเจริญในทางที่ดีงาม” 

โดยทรงพระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องการ ‘ปิดทองหลังพระ’ ไว้ด้วยว่า... 

“ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อจะได้เตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว” 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager