22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 35 ถูกลอบสังหาร ขณะเดินทางไปหาเสียงเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตกใจให้กับคนทั้งโลก เมื่อ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ประธานาธิบดีลำดับที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ถูกลอบสังหารขณะเดินทางไปหาเสียงเลือกตั้ง ปธน. ภายในรถเปิดประทุน โดยมีภรรยานั่งอยู่ด้านข้าง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ เดลลีย์พลาซา เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส

โดยจากการสืบสวนของคณะกรรมการวอร์เรน ซึ่งกินเวลา 10 เดือน ระหว่าง พ.ศ. 2506 - 2507 การสืบสวนของคณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี (HSCA) ระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2522 และการสืบสวนของรัฐบาล สรุปว่าประธานาธิบดีถูกลอบสังหารโดย 'ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์’

ซึ่งในเวลาต่อมา ออสวอล์ดถูกฆาตกรรมโดย แจ๊ค รูบี้ ก่อนที่เขาจะต้องขึ้นศาล ในช่วงแรกที่มีการเปิดเผยผลการสืบสวน ข้อสรุปนี้ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอเมริกัน แต่ในภายหลัง ผลสำรวจที่มีการจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2509 - 2547 เปิดเผยว่าชาวอเมริกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีความเชื่อตรงกันข้ามกับข้อสรุปที่ได้จากการสืบสวนดังกล่าว

ดังนั้นการลอบสังหารในครั้งนี้ยังคงเป็นประเด็นการอภิปรายในวงกว้าง และก่อให้เกิดประเด็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดและการจัดฉากอย่างนับไม่ถ้วน จนกระทั่ง พ.ศ. 2522 คณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี ค้นพบว่ารายงานการสืบสวนของเอฟบีไอและคณะกรรมการวอร์เรนมีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง 

คณะกรรมการฯ ยังสรุปด้วยว่ามีการยิงปืนใส่ไม่ต่ำกว่า 4 นัด ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอาจมีฆาตกรสองคน และทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในภายหลัง ซึ่งรวมถึงผลการศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของหลักฐานที่คณะกรรมการฯ ใช้เพื่อสนับสนุนทฤษฎีกระสุนสี่นัดดังกล่าว

แต่แล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 คดีการลอบสังหารในครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะกระจ่างขึ้น เมื่อประธานาธิบดีโดนัลน์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับคดีลอบสังหาร ปธน.จอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ยังไม่เคยเปิดเผยกว่า 2,800 ชิ้น ตามที่ได้เคยกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าจะเปิดเผยข้อมูลในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ตัดสินใจวินาทีสุดท้าย ไม่เปิดเผยข้อมูลลับเกี่ยวกับคดีดังกล่าวอีกกว่า 300 ชิ้น เพราะหน่วยข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอ และสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ขอให้มีการเก็บข้อมูลบางส่วนต่อไป เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการเปิดเผยคาดว่าจะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อไปอีก 6 เดือน หรือประมาณช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2561

เหตุการณ์สะเทือนโลกครั้งนี้จึงนับเป็น เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ชาวโลกยังคงจดจำ ต่อการจากไปของประธานาธิบดีหนุ่ม ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากมาย อีกทั้งยังเป็นคดีที่ยังคงมีถูกตั้งข้อสงสัยและยังไม่ได้รับความกระจ่างอย่างแท้จริงจากเอกสารบางส่วนที่ยังไม่เปิดเผย มาจนถึงทุกวันนี้