เปิดความจริง!! กองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา ส่วนหนึ่งเป็นทหารรับจ้าง ‘มิใช่’ แรงงานไทยผันตัว

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏมีภาพที่ระบุว่า เป็นชายไทยในชุดเครื่องแบบทหารสังกัด IDF (Israel Defense Forces) หรือกองกำลังป้องกันอิสราเอล โดยมีข่าวประกอบว่าเป็นแรงงานไทยซึ่งสมัครเป็นทหารรับจ้าง (Mercenaries) ให้กับอิสราเอล

ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวเรื่องแรงงานไทยสมัครเป็นทหารรับจ้างให้กับอิสราเอลดังนี้ 

“กรณีที่มีกระแสข่าวในโลกโซเชียลว่ามีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้แก่ฝ่ายอิสราเอลในช่วงสถานการณ์อิสราเอล-กาซา นั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า มีคนไทยที่เป็นลูกครึ่งไทย-อิสราเอลไปเป็นทหารกองหนุนให้อิสราเอลจริง แต่ไม่ใช่พี่น้องแรงงานไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นอกเหนือจากแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมในอิสราเอลแล้ว ยังมีหญิงไทยจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 400 - 500 คน) ที่แต่งงานกับคนอิสราเอล และมีบุตรซึ่งถือ 2 สัญชาติ คือทั้งสัญชาติไทยและอิสราเอล ซึ่งตามกฎหมายอิสราเอล บุคคลสัญชาติอิสราเอลทุกคน (ทั้งหญิงและชาย) จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 18 ปี 

โดยผู้ชายมีระยะเวลารับราชการทหาร 32 เดือน และผู้หญิงมีระยะเวลารับราชการทหาร 24 เดือน และเมื่อเสร็จสิ้นระยะเวลาเกณฑ์ทหารดังกล่าวแล้ว ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นทหารกองหนุน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทหารหากถูกเรียกจากกองทัพอิสราเอล

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 กองทัพอิสราเอลได้เรียกทหารกองหนุนจำนวนกว่า 350,000 คน หรือประมาณร้อยละ 4 ของประชากรอิสราเอลทั้งหมด เข้าปฏิบัติหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียกทหารกองหนุนครั้งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล จึงย่อมมีลูกครึ่งไทย-อิสราเอลที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทหารกองหนุนตามกฎหมายอิสราเอล มิใช่แรงงานไทยที่แฝงตัวไปเป็นทหารรับจ้างให้แก่อิสราเอลตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จึงขอความร่วมมืออย่าเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่อาจทำให้สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนทั้งไทยและต่างประเทศ” 

หมวก Kippah 

จากภาพดังกล่าวจะเห็นว่า ชายหนุ่มในภาพหน้าตาคล้ายชาวเอเชีย และหลายคนสวมใส่หมวก Kippah อันเป็นหมวกผ้าใบเล็ก ๆ ซึ่งสวมใส่เฉพาะชายที่นับถือศาสนา Judaism เท่านั้น ดังนั้นบรรดาชายในภาพจึงน่าจะเป็นลูกครึ่งเอเชีย-อิสราเอล หรืออาจจะเป็นลูกติดของหญิงเอเชียที่แต่งงานกับชายอิสราเอล ต่อมาได้รับสัญชาติอิสราเอล และต้องทำหน้าที่ของพลเมืองอิสราเอลตามกฎหมาย 

ชาวจีนเชื้อสายยิว (Kaifeng Jews) ในเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน

นอกจากนั้นแล้วในอิสราเอลยังมีชาวจีนเชื้อสายยิว (Kaifeng Jews) อยู่อีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยไปจากชุมชนเล็ก ๆ ที่มีผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนเชื้อสายยิว ในช่วงศตวรรษแรกของการตั้งถิ่นฐานอาจมีสมาชิกประมาณ 2,500 คน แม้ว่าพวกเขาจะแยกตัวออกจากชาวยิวพลัดถิ่นส่วนที่เหลือ แต่บรรพบุรุษของพวกเขาก็ยังคงปฏิบัติตามประเพณีและขนบธรรมเนียมของชาวยิวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนชาวจีนเชื้อสายยิวค่อย ๆ เสื่อมสลายหายไป เนื่องจากการหลอมรวมและการแต่งงานระหว่างชาวยิวเชื้อสายจีนใกับชาวจีนฮั่นและชาวจีนฮุย 

จนกระทั่งเมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ความเป็นยิวก็แทบจะหมดไป นอกเหนือจากการเก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับอดีตความเป็นชาวจีนเชื้อสายยิวในตระกูลของตน ปัจจุบันน่าจะเหลือสมาชิกในจีนอยู่ราว 600-1,000 คน และอพยพไปอยู่อิสราเอลไม่กี่สิบคน

มีข่าวจาก www.middleeastmonitor.com ระบุว่า IDF ได้ใช้ทหารรับจ้างต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม ตามรายงานจาก El Mundo สื่อใหญ่ของสเปน

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่นี้ของ Pedro Diaz Flores ทหารรับจ้างชาวสเปนซึ่งเข้าร่วมกองกำลังอิสราเอล เคียงข้างเพื่อนร่วมงานที่จุดตรวจตามแนวรั้วที่กั้นดินแดนที่ถูกยึดครองกับฉนวนกาซา

ในบรรดาทหารรับจ้างต่างชาตินั้น มีทหารรับจ้างชาวสเปนที่เคยต่อสู้เคียงข้างนีโอนาซีชาวยูเครนหลังจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว Pedro Diaz Flores ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว แต่เขายังมีชีวิตสบายดี

ตามรายงานของสื่อที่ทำการสัมภาษณ์เขา “ผมมาเพื่อเงิน พวกเขาจ่ายดีมาก มีอุปกรณ์ดี และงานก็ใช้ได้ เงินก็ดีด้วย 3,900 ยูโร (4,187 ดอลลาร์) ต่อสัปดาห์ นอกเหนือจากภารกิจเสริม” Flores กล่าวถึงแรงจูงใจในการเข้าร่วมกองกำลัง IDF

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า เขาสู้รบในที่ราบสูงโกลันที่ถูกยึดครอง “เราให้การสนับสนุนด้านความปลอดภัยแก่ขบวนรถติดอาวุธหรือกองกำลังของกองทัพอิสราเอลที่อยู่ในฉนวนกาซาเท่านั้น เราไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มฮามาสโดยตรง และไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการจู่โจม”

“เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของจุดตรวจและการควบคุมการเข้าถึงบริเวณชายแดนฉนวนกาซาและจอร์แดน มี PMC [Private Mercenaries Companies : บริษัททหารรับจ้างเอกชน] จำนวนมาก ที่นี่และพวกเขาแบ่งปันงานกัน ปกติแล้วพวกเขาจะทำหน้าที่คอยคุ้มกันอาคารผู้โดยสารชายแดนระหว่าง Eliat และ Aqaba” เขากล่าวเสริม ตั้งแต่เดือนที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่า ทหารรับจ้างที่ประจำการอยู่ในยูเครนจะเริ่มหันเหความสนใจไปช่วยเหลือและเข้าร่วมกองทัพอิสราเอล ในขณะที่จุดสนใจของชาติตะวันตกก็เปลี่ยนไปยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอลในขณะที่ IDF กำลังก่ออาชญากรรมสงครามและการสังหารหมู่พลเรือนชาวปาเลสไตน์

นอกจากนี้แล้วในสหราชอาณาจักร ศูนย์ยุติธรรมระหว่างประเทศสำหรับชาวปาเลสไตน์ (ICJP) ได้ส่งจดหมายถึงสำนักงานต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนา (FCDO) เพื่อขอคำชี้แจงเร่งด่วนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรต่อชาวอังกฤษที่จะสู้รบในอิสราเอลและฉนวนกาซา ตามรายงานของ  ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พลเมืองอังกฤษหลายร้อยหรือหลายพันคนได้ออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อร่วมสู้รบกับกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ในฉนวนกาซา “ชาวอังกฤษจำนวนมากเหล่านี้อาจสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอยู่แล้ว และอาจต้องเผชิญกับการดำเนินคดีในอนาคต หากเรื่องเหล่านี้ได้รับการพิจารณาคดี” จดหมายระบุ 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลเรียกทหารกองหนุน 360,000 นายจากทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมสงครามในฉนวนกาซา “ในสหราชอาณาจักร สื่อต่าง ๆ เต็มไปด้วยเรื่องราวของชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอลที่ออกเดินทางเพื่อเข้าร่วม IDF บางคนอาจอยู่ที่นั่นผ่านโครงการ Mahal ซึ่งเป็นโครงการอาสาสมัครที่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลเข้ารับราชการใน IDF ในการต่อสู้เต็มรูปแบบและมีบทบาทสนับสนุนสำหรับ นานถึง 18 เดือน” ICJP ได้ขอให้ “รัฐบาลสหราชอาณาจักรชี้แจงจุดยืนของตนในเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของพลเมืองอังกฤษที่จะสู้รบในอิสราเอลหรือฉนวนกาซา โดยสังเกตถึงความแตกต่างกับนโยบายของตนต่อยูเครน รัฐบาลได้ชี้แจงชัดเจนว่าพลเมืองอังกฤษไม่ควรเดินทางไปต่อสู้ในยูเครน และผู้ที่ทำเช่นนั้นอาจมีความผิดทางอาญา”

น่าจะพออนุมานได้ว่าไม่มีแรงงานไทยในกองกำลัง IDF แม้แรงงานส่วนหนึ่งอาจจะเคยรับราชทหารในกองทัพไทย แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย อาทิ ประสบการณ์การรบ วิธีปฏิบัติ ที่สำคัญที่สุดคือ ภาษา ฯลฯ อีกทั้งรัฐบาลไทยยึดมั่นในการดำรงนโยบายเป็นกลางต่อเหตุการณ์นี้ และยังคงมีการอพยพแรงงานที่สมัครใจกลับอยู่ตลอดเวลา การเข้าร่วมกองกำลัง IDF ของแรงงานไทยจึงน่าจะเป็นเพียงข่าวลือตามที่กระทรวงต่างประเทศของไทยได้แถลงนั่นเอง


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล