สุภาษิตว่าไว้ ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ แต่หาก ‘ตี’ เกินกว่าเหตุ เสี่ยงนอนคุกยาวๆ

ความรัก ความใส่ใจ และความห่วงใย ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันครอบครัว แต่หากให้ความรัก ความใส่ใจ และความห่วงใย ‘มากจนเกินไป’ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ‘ความรุนแรง’ ในครอบครัวได้

การอบรมสั่งสอนลูก หรือบุคคลในครอบครัว หากเกินขอบเขต ถึงขนาดการทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ จนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้กระทำอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (หลายคนคิดว่าทำได้ ไร้ความผิด)

คราวนี้จะต้องมาทำความเข้าใจในคำว่าความรุนแรงในครอบครัวเสียก่อน 

ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง ความรุนแรงที่พ่อ แม่ กระทำต่อลูก หรือสามีกระทำต่อภรรยา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทั้งที่มีผลกระทบต่อร่างกาย หรือจิตใจ

บุคคลในครอบครัว หมายถึง สามี ภรรยา บุตร อดีตสามี/ภรรยา หรือญาติที่พักอาศัยอยู่ภายในครอบครัวเดียวกัน

หากฝ่าฝืน ผู้ที่กระทำความรุนแรงอาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 

ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลอาจจะมีคำสั่งใด ๆ เพื่อกำหนดมาตรการและเหตุบรรเทาทุกข์ ให้ผู้กระทำหยุดการกระทำรุนแรงดังกล่าวต่อไปอีก หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้กระทำความรุนแรง อาจถูกให้ใช้วิธีฟื้นฟู บำรุงรักษา หรือคุมความประพฤติ ห้ามใช้ความรุนแรงในครอบครัวซ้ำอีก

หากภายหลังผู้กระทำความรุนแรง และบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ อาจตกลงยอมความกัน ซึ่งหากสามารถทำข้อตกลงและอยู่ร่วมกันต่อไปได้ อาจมีการถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องได้ และถือเป็นความผิดอันยอมความได้

เนื่องจากความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน กฎหมายจึงกำหนด วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง มีขั้นตอนแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไข ความรุนแรงในครอบครัว และเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


เรื่อง: ธีระวุฒิ วชิรมโนวาทย์