‘ในหลวง ร.๙’ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนภาคอีสาน จุดเริ่มต้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ร่วงหล่นจากตำแหน่ง

พอถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ภาพประวัติศาสตร์หนึ่งที่จะวนมาให้เราได้ระลึกถึงกัน ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคกลางมาแล้วในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ ทั่วทั้งภาคอีสานมาก่อน จะมีก็เพียง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่เคยเสด็จฯ ประพาสต้น จังหวัดนครราชสีมาโดยทางรถไฟเป็นการส่วนพระองค์ 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานและประเทศไทยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ทำไม ? จอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ต่างจังหวัด ของรัชกาลที่ ๙ 

สืบเนื่องจากรัฐบาลพม่าโดยนายกรัฐมนตรีอูนุ ได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ ๙ เยือนสหภาพพม่าเพื่อทรงเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ‘ฉัฏฐสังคายนา’ แต่ด้วยการกราบบังคมทูลเชิญในครั้งนั้นถือว่าไม่เป็นทางการเนื่องจากไม่ได้เป็นการเชิญโดยประมุขประเทศคือประธานาธิบดีบาอู พระองค์จึงทรงปฏิเสธ 

แต่จอมพล ป.เองก็ต้องการใช้การเสด็จฯ เยือนพม่าในคราวนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศของตน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักดีว่า พระองค์สามารถใช้เรื่องนี้ต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลได้ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสด็จฯ เยือนพม่าตามความต้องการของรัฐบาล

การต่อรองนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ จอมพล ป. ต้องการฟื้นฟูบทบาทและกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมองว่าตนเองกำลังสู่ขาลง และการใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ จะเป็นโอกาสที่ตนจะมีฐานทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ แล้ว จอมพล ป.ยัง สนับสนุนให้ฟื้นฟูกรมกองและพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยุบไปโดยคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้บางอย่างจะเป็นไปในแบบย่นย่อก็ตาม

กลับมาเรื่องของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานกันต่อ จากการต่อรองที่เกิดขึ้น ทำให้ จอมพล ป. กุลีกุจอในการวางแผนการเสด็จฯ ของในหลวง ร.๙ ไว้ ๓ ภาค คือ ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคเหนือตลอดช่วงฤดูแล้งของปี ๒๔๙๘ โดยก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ เยือนภาคอีสาน พระองค์ทรงขอให้รัฐบาลจัดแผนการเสด็จฯ ไปยังบางจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการทันทีพร้อมอนุมัติเงินจำนวน 260,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ และค่าพระกระยาหาร … เรียกว่าใจป้ำสุดๆ 

ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จฯ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ อย่างที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด

“บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก” 
“เหมือนฟ้ามาโปรด” 
“แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ”  
“ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆ เถอะ” 

คำเหล่านี้คือ คำพูดจากประชาชนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ โดยมีภาพจำตลอดสองข้างทางที่เสด็จฯ นั้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่อยากจะชื่นชมพระบารมี แม้มืดค่ำก็ไม่ได้มีความย่อท้อ ทั้งยังตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว จุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน

ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปสักการะพระธาตุพนม และภาพประวัติศาสตร์นึงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดนครพนมนี้ก็คือภาพที่ ในหลวง ร.๙ ทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนโยนของพระองค์ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์

การเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยตรงแทนที่จะยื่นเรื่องผ่านส่วนราชการ ทำให้ข้าราชการได้ตื่นตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มากขึ้น เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นผ่านระบบการปกครองของพรรคการเมืองหรือคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และในการเสด็จฯ เยือนภาคอีสานในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงพบกับ กระต่าย โดนสโสฤทธิ์ และ ผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งเดินทางข้ามชายแดนมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ที่หนองคายด้วย โดยนายกฯ ลาว ถึงกับประหลาดใจที่คนไทยให้การต้อนรับในหลวงอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ 

แต่คนที่น่าจะประหลาดใจที่สุดน่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรภาคอีสานในครั้งนี้ สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนให้แก่พระองค์ และสำหรับจอมพล ป. แล้ว การสนับสนุนการเสด็จฯ ในครั้งนี้อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบตัวเขาในหมู่ประชาชนได้แล้ว กลับกลายเป็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมของจอมพล ป. กำลังถูกท้าทายจากบทบาทใหม่ของรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ซึ่งกลายเป็นชนวนที่ต่อมาจอมพล ป. ลดงบประมาณการเสด็จพระราชดำเนินภาคเหนือของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลง 

พร้อมด้วยทัศนคติของจอมพล ป. ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ‘ย่ำแย่ลง’ ตามอุปนิสัยของท่านจอมพล ที่เรียกได้ว่า ‘ขี้อิจฉา’ โดยเฉพาะจุดแตกหักเกิดขึ้นหลังจากงาน ‘งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ’ หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดย จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์  ที่ชื่อว่า ‘ไทเสรี’ ได้ลงข่าวโจมตีพระราชวงศ์อย่างหยาบคาย (เป็นการพาดหัวข่าวในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

กระแสของสังคมได้โต้กลับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอย่างรุนแรง รวมทั้งการอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ทำให้ความนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นมาอย่างยาวนาน เสื่อมลงไปอีก ทั้งยังสร้างความโกรธแค้นชิงชัง จอมพล ป. ให้เกิดขึ้นกับประชาชน จนเกิดเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่มีนักวิชาการตกขอบชอบยกเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งๆ ที่องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. แทบจะไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย และบริบททางสังคมและการเมืองในสมัยนั้นต้องการมิ่งขวัญของปวงชนมากกว่าผู้นำเผด็จการที่ชอบแอบอ้างตนและหวังการใช้ประโยชน์จากองค์พระมหากษัตริย์


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager