‘นายกฯ’ ถึงกรุงริยาด พร้อมร่วมประชุมสุดยอด ‘ASEAN-GCC’ ครั้งที่ 1 กระชับสัมพันธ์อาเซียน-รัฐอ่าวอาหรับ ก่อนเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ

นายกฯเศรษฐา เดินทางถึงกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียแล้ว เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับครั้งที่ 1 ทันที ก่อนเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนและเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเวลา 05.40 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย (ช้ากว่าประเทศไทย 4 ชม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับครั้งที่ 1 (ASEAN-GCC Summit) ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2566

โดยเมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ร่วมพิธีการต้อนรับ จากนั้นเดินทางไปยังโรงแรม Ritz Carlton ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักก่อนปฏิบัติภารกิจ

จากนั้นเวลา 09.00 น. ที่โรงแรม นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมโดยเมื่อเดินทางถึงบริเวณห้องโถงหน้าห้องประชุม เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ต้อนรับและถ่ายภาพร่วมกัน ก่อนเข้าร่วมประชุม

จากนั้น 11.00 น. นายกรัฐมนตรีร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันโดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดลุ อะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำภายหลังการประชุมสุดยอด ASEAN-GCC Summit

จากนั้นเวลา 11.40 น. นายเศรษฐาเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุล อะซีซ อาล ซะอูด มกุฎ ราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

สำหรับประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับครั้งที่ 1 (ASEAN-GCC Summit) เป็นการประชุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์อาเซียน-GCC ที่มีมากกว่า 30 ปี การเข้าร่วมการประชุมของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในระดับสูงของไทยในการกระชับความสัมพันธ์กับ GCC และประเภทสมาชิกต่างๆ ของ GCC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่ไทยเพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงและแหล่งทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มประเทศ GCC รวม 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะโอกาสในด้านอาหาร พลังงาน และการท่องเที่ยว รวมถึง การพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การจัดทำ FTA-GCC และอาจเสนอให้พิจารณาจัดตั้ง อาเซียน GCC Business forum เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายและการไปมาหาสู่ของประชาชนในสองภูมิภาค ทั้งในเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

โดยการประชุมครั้งนี้ เห็นพ้องให้ผู้นำรับรองเอกสารผลลัพธ์จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอด อาเซียน GCC ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำทั้งสองฝ่ายในการกระชับความสัมพันธ์อาเซียน GCC ในความร่วมมือสาขาต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ในส่วนร่างกรอบความร่วมมืออาเซียน GCC ค.ศ.2024-2028 เป็นเอกสารแผนงานระหว่างอาเซียนกับ GCC ระยะ 5 ปี 2024-2028 โครงการ กิจกรรมและแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง การป้องกันและต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งและแนวคิดสุดโต่งนิยมความรุนแรง การค้าการลงทุน การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและสารสนเทศ การศึกษา ความเชื่อมโยง ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน และการลดช่องว่างการพัฒนา