‘กองทุนดีอี’ โชว์ผลสำเร็จโครงการโดรนสำรวจพื้นที่ป่า เตรียมใช้ข้อมูลเพิ่มศักยภาพดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

‘กองทุนดีอี’ โชว์ผลสำเร็จโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังสำรวจครบ 11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เตรียมนำข้อมูลช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีการบุกรุกทำลายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และทรัพยากรป่าไม้โดยการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อสงวน และอนุรักษ์ป่าไม้มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัญหาอีกประการด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศซึ่งในอดีตไม่สามารถแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง เพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน หรือติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างละเอียด อีกทั้งยังไม่มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อจัดการด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่ม เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี

กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำภาพถ่ายทางอากาศและการบินลาดตระเวนทางอากาศ ด้วยอากาศยานไร้คนขับ ในการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเพื่อพัฒนาระบบจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูงสำหรับสนับสนุนการจัดการพื้นที่ทำกิน ให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลข้อมูลสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ด้านไฟป่าและน้ำป่าไหลหลากในรูปแบบ real time บน web map service และ mobile application และเพื่อพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยอากาศยานไร้คนขับในรูปแบบขึ้นลงทางดิ่ง (vertical takeoff and landing, VTOL) สำหรับการลาดตระเวนทางอากาศและการสำรวจจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ 

โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปีงบประมาณ 2564 โดยเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับงานลาดตระเวน ติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายและสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ต่ำกว่า 9 ล้านไร่ อีกทั้งยังเป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า และป่าอนุรักษ์ ด้านการจัดพื้นที่ทำกิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการจัดการด้านภัยธรรมชาติ เช่นไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่ม และเป็นการเสริมศักยภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่ใช้อากาศยานเป็นอุปกรณ์หลักเพียงอย่างเดียว ให้มีอุปกรณ์เสริมช่วยลดความเสี่ยง และสามารถเข้าพื้นที่ได้รวดเร็ว ครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาช่องทางให้บริการข้อมูลที่จำเป็นแก่ประชาชน และหน่วยงานภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายความละเอียดสูงแบบหลายช่วงคลื่น ประกอบภาพถ่ายสีธรรมชาติ ข้อมูลสภาพภูมิประเทศแบบสามมิติ วิดีโอในรูปแบบ real time เป็นต้น ในการสนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชน

สรุปผลการดำเนินงาน โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอากาศยานไร้คนขับ จำนวนทั้งสิ้น 14  ลำ โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร 

ปัจจุบันได้มีการทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าเขา พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ไฟป่า และพื้นป่าที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกิน โดยกำหนดเป็นภารกิจการบินสำหรับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การบินลาดตระเวนพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมผู้ใช้งานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

จากการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับการสำรวจที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ทำกิน ด้วยข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ความละเอียดสูงจากอากาศยานไร้คนขับ และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเสี่ยงและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ อีกทั้งมุ่งผลลัพธ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ โดยการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน


อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. (2560). โครงการป้องกัน ปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการอากาศยานกับภาคพื้นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER15/DRAWER053/GENERAL/DATA0000/00000203.PDF