‘ชัยวุฒิ’ ยก ‘ปลาช่อนแม่ลา’ ตำนานของอร่อย สร้างอัตลักษณ์จากพื้นถิ่นสู่ ‘Soft Power อาหารไทย’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการสนับสนุนอัตลักษณ์ความเป็นไทย มุ่งสู่การเป็น Soft Power โดยระบุว่า ขึ้นชื่อว่า ‘อาหารไทย’ ไม่ว่าจะเป็นประเภท ต้ม ผัด แกง ทอด ล้วนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่เมื่อเอ่ยขึ้นมา ชาวต่างชาติจะรู้ได้ทันทีว่าเป็น อาหารไทย นั่นแสดงให้เห็นว่า อาหารไทยนี่แหละ คือ Soft Power ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างแท้จริง

ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5F ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้วางรากฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็น F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีศิลปวัฒนธรรมและอาหารที่คนต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยเราด้วยกันเองยังไม่รู้จัก หรือยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสอีกมาก

นายชัยวุฒิ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนอาหารท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เหมาะที่สนับสนุนให้เป็นสินค้าให้ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ โดยยกตัวอย่างของใกล้ตัวในฐานะคนสิงห์บุรี นั่นก็คือ ‘ปลาช่อนแม่ลา’ ซึ่งเป็นปลาที่ถือกำเนิดในลำน้ำแม่ลา อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ในเขตพื้นที่ จ.สิงห์บุรี เป็นแหล่งน้ำที่น้ำนิ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ว่ากันว่าเป็นปลาช่อนที่รสชาติดีกว่าปลาช่อนที่ไหน ๆ แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ยังทรงตรัสเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น พักแรมที่เมืองอินทร์ และได้เสวยปลาช่อนแม่ลาว่า “ปลาของลำแม่ลามีรสชาติดีกว่าที่อื่น”

นั่นคือ ตำนานความอร่อยของปลาช่อนแม่ลา ที่ได้รับการยอมรับและสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญปลาช่อนแม่ลา ที่มีลักษณะเด่นลำตัวอ้วนกลม หัวหลิม และครีบหูสีชมพู ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่ปี 2560 อีกด้วย

แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการทำประตูเปิด-ปิดทำให้ลำน้ำตื้นเขิน หรือหากเป็นในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็จะเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ปลาในธรรมชาติเริ่มลดน้อยลงทุกที จนทางกรมประมงได้เริ่มทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาช่อนแม่ลาขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้ปลาสูญพันธุ์ และอีกส่วนคือการคัดพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพและสามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้าได้ โดยเฉพาะหากต้องการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ

“ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จักปลาช่อนแม่ลากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะมีการแปรรูป และส่งเสริมเป็นสินค้าของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรีมานาน แต่ในต่างประเทศเราอาจจะต้องโปรโมตและสนับสนุนในการทำตลาด เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกันมากขึ้น มีของดีเราต้องบอกต่อครับ เพื่อพี่น้องในชุมชนจะได้มีอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ”