9 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ 'สมัคร สุนทรเวช' พ้นนายกรัฐมนตรี 

วันนี้เมื่อ 15 ปีก่อน ศาลธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ให้ ‘สมัคร สุนทรเวช’ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีการจัดรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยงหกโมงเช้า’

วันที่ 9 กันยายน ปี พ.ศ. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้น ออกบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยงหกโมงเช้า’

โดยประเด็นนี้ เกิดขึ้นจากการที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหาในขณะนั้น พร้อมคณะ สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และหากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัครกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 267 และมาตรา 182 วรรค 1 เนื่องจากการที่เขาได้รับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ รายการโทรทัศน์ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่ากระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยตามมาตรา 180 วรรค 1 แต่ในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะรักษาการในตำแหน่งไปก่อน จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่