‘อดีต นร.ไทยในญี่ปุ่น’ ชี้!! คราฟต์เบียร์ไทยต้องใส่ใจมาตรฐาน ยก ‘กม.เหล้าเบียร์ญี่ปุ่น’ ต้องมีใบอนุญาต-ควบคุมอย่างเข้มข้น

(17 ส.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ โดย ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงประเด็นกฎหมายแอลกอฮอล์ในประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า…

จากข่าวรองประธานสภา (คนที่ 1) ได้ทำการโฆษณาเบียร์ผ่านโลกโซเชียล ซึ่งผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตราที่ 32 ว่าด้วย “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ซึ่งหากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากนั้น เจ้าตัวก็ออกมาแก้ต่างทั้งในสื่อโซเชียลและทีวีต่างๆ นานา ซึ่งผมไม่เป็นปัญหาหรอก เพราะยังไงเจ้าตัวก็มีสิทธิ์นั้นเวลาสู้คดี แต่มีคำแก้ตัวอยู่ข้อความหนึ่งที่ได้ยินแล้ว ได้แต่มองบนก็คือ “เกาหลีใต้ยังทำได้เลย ให้ดารา นักร้องโฆษณาเหล้าเบียร์” ก็เข้าใจนะครับว่า การเอาข้อดี (รวมถึงคิดว่าเป็นข้อดี) ของต่างประเทศมาเทียบเคียงกับไทยมันก็ช่วยพัฒนาประเทศได้ในบางกรณี แต่ช่วยกรุณายกมาพูดทั้งระบบ ไม่ใช่ดึงแต่ข้อดีที่จะใช้แก้ต่างให้ตัวเอง หรือเพื่อผลประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผมก็ขอยกเอาบางส่วนของระบบที่เขาบอกกันว่ามันจะดีต่อวงการคราฟต์เบียร์ ผลิตเหล้า ถ้าทำแบบต่างประเทศมาให้เห็นภาพครับ

ผมจะยกกรณีของประเทศญี่ปุ่นนะครับ เนื่องจากไม่ได้เคยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งญี่ปุ่นก็อนุญาตให้โฆษณาเหล้าเบียร์ได้ตามสื่อทั่วไป จนบางที่เห็นโฆษณาบางตัวแล้ว ผมยังเปรี้ยวปากเลย เล่นยกดื่มโชว์กันแบบไม่เกรงใจใคร

สิ่งที่อยากให้นำเสนอมากกว่าเรื่องโฆษณาเหล้าเบียร์ คือ ‘มาตรฐานการผลิต’ ครับ การจะเป็นผู้ผลิตเบียร์ หรือเหล้าญี่ปุ่นได้นั้น ไม่ใช่ว่าอยากทำเพื่อขายจะสามารถทำได้เลย ต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานภาษีในเขตที่สถานที่ผลิตของท่านตั้งอยู่ เพื่อขอใบอนุญาตผลิต (製造免許) โดยการยื่นของใบอนุญาตนั้นต้องลงข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักรเครื่องมือการผลิต และปริมาณการผลิตเฉลี่ยได้ในหนึ่งปี (มาตรฐานการผลิตน้อยที่สุดที่อนุญาต สำหรับเบียร์คือ 60 กิโลลิตร หรือ 6 หมื่นลิตรต่อปี) ถ้าข้อมูลที่กล่าวข้างต้นผ่าน ก็จะเป็นการตรวจสอบผู้ยื่นขออนุญาต และตรวจสถานที่ผลิต ตามกฎหมายภาษีเหล้ามาตราที่ 10 (酒税法第10条)

หนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ วรรค 7-2 ผู้ยื่นจะต้องไม่เป็นบุคคลที่โดนลงโทษภายในสามปี ล่าสุดในข้อหาความผิดกฎหมายห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดื่มเหล้า กฎหมายสถานประกอบการเริงรมย์ (風俗営業) กฎหมายปกป้องกันการรุนแรงที่ไม่เหมาะสม กฎหมายอาญา (หมวดความรุนแรงต่างๆ)

ถ้าผ่านการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ก็จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ใช่ว่าจะสิ้นสุด ผู้ที่ทำการผลิตเบียร์หรือเหล้าเพื่อขาย (ทำเพื่อบริโภคเองไม่จำเป็น) จำเป็นต้องมีใบอนุญาตส่วนบุคคลเพิ่มเติมยกตัวอย่างเช่น (อาจมีมากกว่านี้ แล้วแต่ประเภทแอลกอฮอล์ที่ผลิต)

1.) ใบอนุญาตจัดการวัตถุอันตราย สำหรับผู้ผลิตเบียร์หรือเหล้า ที่ต้องเก็บรักษาแอลกอฮอล์ที่ใช้การหมักในการผลิต จำเป็นต้องมีใบอนุญาตจัดการวัตถุอันตรายซึ่งควบคุมดูแล โดยหน่วยงานสอบขององค์กรดับเพลิงของญี่ปุ่น (一般財団法人消防試験研究センター) โดยจะเป็นการสอบเพื่อวัดความรู้ในเรื่องแอลกอฮอล์ การเก็บรักษาและการขนส่ง นอกจากนี้ แล้วถ้ามีการขนส่งและเก็บรักษาแอลกอฮอล์หมัก ก็จำเป็นต้องส่งเอกสารให้กับสถานีดับเพลิงในพื้นที่ด้วย

2.) ใบมาตรฐานทักษะประเภทเครื่องต้มน้ำ หรือ ‘บอยเลอร์’ ในสถานที่ผลิตแอลกอฮอล์บางประเภท จำเป็นต้องใช้เครื่องต้มน้ำในการผลิต ผู้รับผิดชอบจึงจำเป็นต้องมีใบมาตรฐานทักษะประเภทเครื่องต้มน้ำซึ่งควบคุมดูแลโดยหน่วยงานเฉพาะ (一般社団法人日本ボイラ協会) เนื่องจากเครื่องต้มน้ำต้องใช้ทักษะเฉพาะ มีความอันตรายในการใช้งาน ผู้ใช้จริงต้องมีมาตรฐานและความรู้ที่ได้รับการยอมรับ

จะเห็นว่าภายใต้ข้อดีของต่างประเทศที่ถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ถ้าดูลงลึกไปถึงรายละเอียด จะพบว่ามีอะไรมากกว่าที่เราเห็น ไม่ใช่แค่การอยากทำก็ทำได้เลยตามใจชอบ ทุกอย่างจำเป็นต้องมีมาตรฐานไว้เป็นตัวกำหนดภายใต้ข้อกฎหมายเดียวกัน

จะว่าไปแล้ว เรื่องใบอนุญาตในแต่ละอาชีพของญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรนำมาปรับใช้ในประเทศไทยมาก เนื่องจากคนไทยพูดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำแล้วหยิบเอาญี่ปุ่นมาอ้างก็บ่อยๆ แต่ไม่เคยพูดว่า การจะประกอบอาชีพแต่ละอาชีพของญี่ปุ่น ต้องมีใบอนุญาตในแต่ละอาชีพด้วย เช่น เกษตรกรหรือพ่อครัว บางใบอนุญาตอาจไม่ได้บอกว่าจำเป็นต้องมี แต่มันมีผลเกี่ยวกับค่าแรงที่ได้รับ ยิ่งมีระดับสูงก็ยิ่งได้ค่าแรงเยอะ แสดงถึงความชำนาญที่มี

ปล. ตัวผมก็มีใบอนุญาตประกอบอาชีพที่ญี่ปุ่นอยู่ 3 ใบ ที่กว่าจะสอบผ่านก็รากเลือดอยู่เหมือนกัน คือ
- ใบอนุญาตขับเรือระดับ 3
- ใบอนุญาตใช้วิทยุสื่อสารภาคพื้นดินระดับ 2
- ใบอนุญาตใช้วิทยุในทะเลระดับ 1