‘โจรสลัดแห่งน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ กลุ่มคนใจโฉด ที่อดีตเคย ‘ปล้น-ฆ่า’ ผู้อพยพและชาวประมงอย่างเลือดเย็น


โจรสลัดแห่งน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

‘โจรสลัด’ (Pirate, Buccaneer, Frigate) ตามนิยามของวิกิพีเดียสารานุกรมออนไลน์คือ ‘บุคคลที่ปล้นหรือโจรกรรมในทะเล หรือแม้กระทั่งตามชายฝั่งหรือท่าเรือต่าง ๆ ในบางโอกาส’ โจรสลัดในอดีตที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น มีผ้าคาดหัว ใช้ดาบใบกว้าง หรือปืนพก และเรือโจรสลัดที่มีขนาดใหญ่ แต่โจรสลัดในปัจจุบันนิยมใช้เรือเร็ว และใช้ปืนพก ปืนกล กระทั่งจรวดต่อสู้รถถังแทนดาบ โดยมีเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นเรือบรรทุกสินค้า

Cellattes (ชาวบ้านที่อยู่อาศัยตามเกาะแก่งในช่องแคบมะละกา)

‘โจรสลัด’ เป็นคำในภาษาไทยที่ใช้มานานนับแต่สมัยอยุธยา มีปรากฏในเอกสารเก่า เป็นคำที่มาจากภาษามลายู คือ ‘Salat’ (โจรปล้นเรือ) หรือ ‘Selat’ (ช่องแคบ) ในเอกสารต่างประเทศ กล่าวถึงการที่พ่อค้าต่างชาตินิยมเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาด้วย เพราะทะเลอ่าวไทยไม่มีโจรสลัด คำว่า ‘สลัด’ หรือ ‘โจรสลัด’ ใช้เรียกเฉพาะโจรที่ทำการปล้นเรือกลางทะเล และยกพลไปปล้นบนบกตามหัวเมืองชายทะเลทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น โดยโจรสลัดเหล่านี้มีรกรากถิ่นฐานบริเวณดินแดนทั้ง 2 ฟากฝั่งของช่องแคบมะละกา จึงเรียกโจรเหล่านี้ว่า ‘สลัด’ หมายถึงโจรที่มาจากช่องแคบ เนื่องด้วยชาวอังกฤษในสมัยก่อน เรียกชาวบ้านที่อยู่อาศัยตามเกาะแก่งในช่องแคบมะละกาว่า ‘Cellattes’ โดยชาวบ้านพวกนี้จะทำการปล้นเรือต่างๆ ที่แล่นผ่านมาในอาณาเขตของตน


เรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัด สามารถย้อนหลังไปได้ถึงราว 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช เมื่อบริเวณทะเลอีเจียน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีชนพื้นเมือง 2 พวก คือ ‘อิลลีเรียน’ และ ‘ไทร์เรเนียน’ ทำการปล้นสะดมเรือสินค้าของชาวฟีนีเชียนเป็นประจำ และจับเอาเด็กทั้งชายและหญิงไปขายเป็นทาสอีกด้วย โจรสลัดที่มีความโด่งดังอีกคนหนึ่งคือ ‘คาริโก้ แจ็ค’ (Calico Jack หรือ Jack Rackham) เป็นโจรสลัดชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ฉายามาจากเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่อยู่ เป็นโจรสลัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง มีผู้ช่วยเป็น 2 โจรสลัดหญิง ‘แอน บอนนี่’ (Anne Bonny), ‘แมรี่ รีช’ (Mary Read) ต้นตำรับธงโจรสลัด รูปหัวกะโหลกและดาบ 2 เล่ม ทำให้เป็นโจรสลัดที่ได้รับการจดจำมากที่สุดในบรรดาโจรสลัดมากมาย


โจรสลัดในปัจจุบันยังคงมีปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบริเวณชายฝั่งและทะเลในอเมริกาใต้ รวมถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก็ยังคงมีโจรสลัดทำการปล้นเรือที่แล่นผ่านไปมาอยู่ โดยเฉพาะแถบชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา และชายฝั่งของทะเลแคริบเบียน แต่จำนวนลดน้อยลงไปมาก ด้วยมาตรการป้องกันจากกองกำลังรัฐบาลชาติต่างๆ ยุคต่อๆ มายังคงมีโจรสลัดทำการปล้นอยู่เรื่อยมา ‘อ่าวเอเดน’ ประเทศโซมาเลีย เป็นน่านน้ำที่โจรสลัดยังคงปฏิบัติการปล้นจี้เรือที่แล่นผ่านไปมาอย่างอุกอาจที่สุด และขึ้นชื่อที่สุดในยุคปัจจุบันอีกด้วย ประมาณการว่า ค่าเสียหายที่เกิดจากการปล้นของโจรสลัดทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ปีละหลายแสนล้านบาท โดยโจรสลัดสมัยใหม่ใช้เรือยนต์ขนาดเล็กติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ที่ทันสมัย มีทั้งโทรศัพท์ดาวเทียม, จีพีเอส, ระบบเรดาห์และโซนาร์


น่านน้ำในทวีปเอเชีย ก็หนีไม่พ้นจากเป้าหมายในปฏิบัติการปล้นของโจรสลัดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย จุดที่อยู่ระหว่างช่องแคบมะละกาและประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเรือพาณิชย์แล่นผ่านกว่า 50,000 ลำต่อปี โดยโจรสลัดที่ทำการปล้นในแถบนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปฏิบัติการปล้นจะใช้เรือเล็กเร็วเทียบขนานเรือใหญ่ แล้วปีนขึ้นเรืออย่างรวดเร็วและเงียบเชียบด้วยความชำนาญ จนบางครั้งลูกเรือใหญ่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่บางคนจะบริกรรมคาถา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยในการกำบังกายได้ด้วย และสามารถควบคุมลูกเรือทั้งหมดให้อยู่ในจุดเดียวกัน ขณะที่บุคคลสำคัญ เช่น กัปตัน หรือต้นหน จะถูกกักตัวไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ในบางครั้งอาจจะแค่ปล้นทรัพย์อย่างเดียว ส่วนตัวบุคคล หากไม่มีความจำเป็นหรือหมดประโยชน์แล้ว อาจมีการสังหารทิ้งศพลงทะเล


สำหรับโจรสลัดในน่านน้ำอาเซียน ในยุคปัจจุบัน น่าจะเริ่มจากรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนที่พ่ายแพ้แก่กองกำลังของคอมมิวนิสต์ ทั้งในลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วง ปี พ.ศ. 2518-2526 อันทำให้ชาวเวียดนามใต้จำนวนมาก หลั่งไหลหลบหนีออกจากประเทศ ด้วยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ทั้งเวียดกง และเวียดนามเหนือ โดยชาวเวียดนามใต้ที่อพยพหนีภัยสงครามออกมา ส่วนใหญ่หลบหนีทางเรือมุ่งสู่ประเทศไทย และมาเลเซีย บางส่วนก็ไปยังฮ่องกงและฟิลิปปินส์ ผู้อพยพเหล่านี้ต่างนำทรัพย์สินมีค่าที่มีอยู่ติดตัวออกมา เช่น เครื่องประดับ และทองคำ และส่วนหนึ่งตกเป็นเหยื่อการปล้นของโจรสลัดในอ่าวไทย ซึ่งมีทั้งการปล้นเอาทรัพย์สิน ข่มขืน และฆ่า ตลอดจนนำหญิงสาวที่เหยื่อข่มขืนไปขายต่อให้กับซ่องโสเภณี และความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ โจรสลัดเหล่านั้น ส่วนหนึ่งคือ ชาวประมงไทยที่เปลี่ยนสภาพเป็นโจรสลัดด้วยความละโมบโลภมากนั้นเอง มีการศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาโจรสลัดของประเทศไทยของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยนโยบายของประเทศไทยที่มักแก้ไขที่ปลายเหตุเป็นส่วนใหญ่ คือ มุ่งเน้นการปราบปรามด้วยกำลังทหารเรือและตำรวจน้ำ แทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การสกัดกั้นการอพยพของประชาชนชาวเวียดนามทางทะเลอ่าวไทย การปล้นเรืออพยพของโจรสลัดในอ่าวไทยลดจำนวนลง ด้วยการอพยพของผู้อพยพเวียดนามลดลงเรื่อย ๆ จนไม่มีปรากฏอีก กระทั่งหมดลงในราวปี พ.ศ. 2530 โจรสลัดเหล่านั้นจึงเปลี่ยนมาปล้นเรือประมงแทน มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ยังไม่อาจยืนยันได้ ด้วยความที่มีข่าวเล่าลือกันว่า กองทัพเรือได้จัดทหารเรือพร้อมอาวุธ ลงประจำในเรือประมงแทรกซึมอยู่ในหมู่เรือประมง และได้ทำการกวาดล้างจับกุมโจรสลัดเหล่านี้ได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โจรสลัดหมดไปจากอ่าวไทย


ทุกวันนี้ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะเดียวกันภูมิประเทศที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มโจรสลัดสามารถใช้เป็นที่กบดานได้ง่าย นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณช่องแคบมะละกาก็ยังเป็นเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้ากว่า 1 ใน 4 ของโลก มีเรือขนส่งน้ำมันกว่าครึ่งหนึ่งของโลกเดินทางผ่านเส้นทางนี้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงกลายเป็นศูนย์กลางของการปล้นสะดมเรือสินค้า และเรือประมงของโลกโจรสลัดในน่านน้ำอาเซียน


สำหรับสถานการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด บริเวณน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ห้วงปี พ.ศ. 2565-2566 ในภาพรวมมีจำนวนเหตุการณ์สูงขึ้นกว่าในปี พ.ศ. 2564 แต่ก็ยังต่ำกว่าในปี พ.ศ. 2563 โดยสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้น อาจมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ลดความรุนแรงลง ซึ่งนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์/จำกัดการเคลื่อนไหว ของเรือในน่านน้ำแต่ละประเทศ และน่านน้ำในภูมิภาค ทำให้โจรสลัดมีโอกาสกระทำความผิดได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังจากการคลายข้อจำกัดของ COVID-19 ดังกล่าว โดยเหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด และปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเล ในน่านน้ำอาเซียนส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นในช่องแคบสิงคโปร์ ตามมาด้วยน่านน้ำในประเทศเมียนมา และ จุดจอดเรือ Belawan บระเทศอินโดนีเซีย (บริเวณใกล้เคียงกับช่องแคบมะละกา) ซึ่งเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carrier) เป็นประเภทเรือที่มีการถูกปล้น/ลักลอบขึ้นเรือมากที่สุดในน่านน้ำอาเซียน ตามมาด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือลากจูง เนื่องจากเรือเหล่านี้มีระวางขับน้ำที่ต่ำกว่า และต้องใช้ความเร็วที่ช้าเมื่อผ่านพื้นที่เดินเรือที่จำกัดและตื้น (ช่องแคบต่างๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรทุกสินค้ามาเต็มพิกัด


วิธีการปล้นเรือ/ลักลอบขึ้นเรือ จะเป็นในลักษณะการฉวยโอกาส โดยผู้กระทำผิดจะมุ่งเป้าไปที่เรือเคลื่อนที่ช้าและมีตัวเรือเหนือแนวน้ำต่ำ (Free Board) ซึ่งง่ายต่อการปีนขึ้นเรือ โดยขณะกระทำความผิดอาจมีอาวุธหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดมักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคนบนเรือและจะหลบหนีเมื่อถูกพบเห็น ในหลายกรณีมีรายงานว่า เรือที่ประสบเหตุไม่มีอะไรถูกขโมย แต่หากถูกขโมยก็จะเป็นสิ่งของประเภทเครื่องมือต่างๆ บนเรือ เศษเหล็ก หรืออะไหล่ หรือสินค้าหลักที่บรรทุกมาบนเรือ ซึ่งบางเหตุการณ์เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ และวิธีที่ใช้ปฏิบัติการ มีความเป็นไปได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดกลุ่มเดียวกัน ที่มุ่งเป้าไปที่เรือหลายลำในคืนเดียวกัน


ปัจจุบันปัญหา ‘โจรสลัดในน่านน้ำอาเซียน’ ทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือเจ้าของเรือ จากความไม่ปลอดภัยของโจรสลัดที่ทำการปล้น หรือเรียกค่าคุ้มครองกับเรือขนส่งสินค้าที่แล่นผ่านไปมาในบริเวณเส้นทางช่องแคบมะละกา ที่มีการปล้นเรือสินค้าเป็นประจำเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุที่การเดินเรือในเส้นทางดังกล่าว ต้องแล่นผ่านช่องแคบที่มีเกาะแก่งอยู่มากมายหลายแห่ง ทำให้ง่ายต่อการหลบหนีและหลบซ่อนของเหล่าโจรสลัดที่ใช้เรือยนต์ขนาดเล็ก และทำให้กองกำลังของรัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมได้โดยง่าย มูลค่าความเสียหายจาก โจรสลัดในน่านน้ำอาเซียนประเมินว่าสร้างความเสียหายแก่บริษัทเดินเรือและประมงเฉลี่ยโดยรวมในแต่ละปีนับหมื่นล้านบาท


แม้ชาติอาเซียนมีความกระตือรือร้นในการจัดการปัญหาดังกล่าว อาทิ ฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกับสหรัฐฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการคนประจำเรือเพื่อการต่อต้านโจรสลัด (Seafarers’ Training-Counter Piracy Workshop-EAST-CP) เพื่อให้คนประจำเรือที่เข้าร่วมการฝึก พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หากถูกบุกโจมตีหรือจับกุมโดยโจรสลัด ขณะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ริเริ่มโครงการลาดตระเวนทางอากาศบริเวณช่องแคบมะละกา เรียกว่า ‘Eyes in the Sky’ เพื่อร่วมมือกันป้องกันภัยคุกคามทางทะเลในช่องแคบมะละกาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ :


‘องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ’ (International Maritime Organization : IMO) เป็นองค์การชำนาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN specialized agency) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรกลางในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อ ความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกจานวน 174 ประเทศ และสมาชิกสมทบ โดยหน้าที่และความรับผิดชอบหลักประกอบด้วย ความปลอดภัยในการขนส่งทางทะเล, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, การรักษาความปลอดภัยทางทะเล : เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความปลอดภัยทางทะเล โดยพัฒนามาตรการในการป้องกันการกระทำอันเป็นโจรสลัด การปล้นเรือด้วยอาวุธ และภัยคุกคามด้านความปลอดภัยอื่นๆ รวมทั้งมาตรการในการรักษาความปลอดภัยท่าเรือระหว่างประเทศ (International Ship and Port Facility Security Code (ISPS Code)), การสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ, การดำเนินการด้านกฎหมาย, ความร่วมมือทางเทคนิคและการสร้างขีดความสามารถ และการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง


‘International Maritime Bureau’ (IMB) เป็นหน่วยงานเฉพาะของ สภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber Of Commerce (ICC)) IMB เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2524 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางทะเลทุกประเภท ตามมติ A 504 (XII) (5) และ (9) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่รับรองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาล ผลประโยชน์และองค์กรทั้งหมด ร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกับ IMB โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาและพัฒนาการดำเนินการร่วมกันในการต่อต้านการฉ้อโกงทางทะเล ทั้งนี้ IMB มี MOU กับองค์การศุลกากรโลก (WCO) และมีสถานะผู้สังเกตการณ์ในองค์การตำรวจสากล (Interpol (ICPO))


‘Regional Cooperation Agreement on Combating Piracy and Armed Robbery against ships in Asia’ (ReCAAP) ก่อตั้งขึ้นจากการที่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 มีเหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยธุรกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาครู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ลักษณะดังกล่าว จึงได้รวมตัวกันจัดการประชุมระดับภูมิภาค ว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือด้วยอาวุธต่อเรือในภูมิภาคเอเชีย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เรียกว่า ‘การประชุม Asia Challenge 2000’ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการรับรองในที่ประชุม เรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และอุตสาหกรรมการเดินเรือ ให้มีการร่วมมือกันในความพยายามในการต่อสู้กับกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเลที่มีความรุนแรงให้ห้วงเวลาดังกล่าว


ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอีก 6 ประเทศ ร่วมกับหน่วยงานด้านการขนส่งทางทะเลในภูมิภาค ได้ร่วมลงนามในความตกลงความร่วมมือระดับภูมิภาค ว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด และการโจรกรรมด้วยอาวุธต่อเรือในเอเชีย (ReCAAP) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 นับเป็นข้อตกลงฉบับแรกและฉบับเดียวที่เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลในระดับภูมิภาค ในระยะเริ่มต้นโดยมีประเทศในเอเชีย 14 ประเทศเป็นภาคีคู่สัญญา ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ReCAAP ได้ก่อตั้งขึ้นในสิงคโปร์ และเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบัน ReCAAP จำนวน 21 รัฐ (14 ประเทศในเอเชีย, 5 ประเทศในยุโรป, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา) ได้เข้าเป็นภาคีคู่สัญญากับ ReCAAP ทั้งนี้ มาเลเซียปฏิเสธการลงนาม เพราะมองว่ารูปแบบการทำงานของ ReCAPP ซึ่งมีสำนักงานกลางอยู่ที่สิงคโปร์ จะทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของศูนย์รายงานโจรสลัดของ IMB ที่ตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์วิจัยในพื้นที่เฝ้าระวัง ทำให้รายงานของหน่วยงานทั้ง 2 สถาบันบางส่วนขัดแย้งกันอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่อินโดนีเซียก็ไม่ยินยอมให้สัตยาบันในข้อตกลง ReCAPP ด้วยเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจละเมิดอธิปไตยของอินโดนีเซีย และมองว่าปัญหาโจรสลัดเป็นปัญหาความมั่นคงภายในของอินโดนีเซียเอง สามารถแก้ไขได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเสริมความเข้มแข็งให้กับกองทัพเรือในการลาดตระเวน และจัดการกับกลุ่มโจรสลัดที่แฝงตัวอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ


‘Information Fusion Centre’ (IFC) เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาค ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลระหว่างสมาชิก เช่น กองทัพเรือ หน่วยยามฝั่ง และหน่วยงานทางทะเลจากประเทศต่างๆ ในพื้นที่สนใจ (AOI) ในมหาสมุทรอินเดียตะวันออก และภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 โดยเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารทางทะเลระดับภูมิภาค มีความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางทะเล และให้การแจ้งเตือนล่วงหน้า และข้อมูลที่หน่วยงานความมั่นคงทางทะเลและอุตสาหกรรมเดินเรือ และที่เกี่ยวข้องทางทะเลสามารถน้ำไปใช้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้ เพื่อเตรียมการรับมืออย่างทันการ ปัจจุบัน IFC มีสมาชิก 25 ประเทศ (Australia, Brunei, Cambodia, Canada, China, Chile, France, Germany, Greece, India, Indonesia, Italy, Japan, Korea, Malaysia, Myanmar, New Zealand, Pakistan, Peru, Philippines, South Africa, Thailand, United Kingdom, United States and Vietnam)


ข้อจำกัดของความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นอุปสรรคที่น่ากังวล และทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโจรสลัดให้สัมฤทธิ์ผลได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่ละประเทศยังคงไม่แก้ไขกฎหมายทางทะเลที่มีความหละหลวม ทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างประเทศอย่างไม่จริงจังในการต่อต้านโจรสลัด เนื่องจากหลายประเทศมักมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยเหนือดินแดนทางทะเลระหว่างกัน จนเป็นเหตุให้แต่ละประเทศเกรงว่า การยอมลงนามในข้อตกลงทางทะเลระหว่างประเทศใดๆ อาจกลายเป็นการยอมรับสิทธิอันชอบธรรมทางกฎหมายเหนือดินแดนทางทะเลของชาติอื่นอย่างไม่ตั้งใจ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการหวงแหนอธิปไตยของชาติอาเซียน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภาพรวมของการเป็นประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน แต่ข่าวดีในปัจจุบันนี้ก็คือ ตัวเลขจำนวนการกระทำอันเป็นโจรสลัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มลดลง ทำให้ทุกวันนี้ปัญหาโจรสลัดในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงพอบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

ชมคลิป ดร.โญมีเรื่องเล่า ‘โจรสลัด’ https://youtu.be/hbQ-bjDoZqc


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล