22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัย นำประเทศไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1

วันนี้เมื่อกว่า 105 ปีมาแล้ว เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัย นำประเทศไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 โดยเป็นความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เป็นผู้นำ กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งมีเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เป็นผู้นำในเหตุการณ์ครั้งนั้น ประเทศสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และปราศจากมนุษยธรรม ส่งผลให้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมทั้งส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบณ สมรภูมิทวีปยุโรป

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว 

เป็นที่มาของการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวงเวียน ที่เป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น โดยทำการสร้างบริเวณถนน 3 สาย (ปัจจุบันคือ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ) ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาได้พระราชทานนามวงเวียนว่า ’22 กรกฎาคม’

ปัจจุบัน วงเวียน 22 กรกฎาคม กลายเป็นแหล่งการค้าของกรุงเทพมหานครชั้นใน ทั้งนี้ที่บริเวณวงเวียน ยังปรากฎป้ายหินที่จารึกเป็นภาษาไทยและภาษาจีน มีใจความว่า...

อนุสรณ์แห่งนี้เป็นวงเวียนแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ก่อนจะได้รับชัยชนะในเวลาต่อมา