‘ชาวไทยมุสลิม’ สวมชุดมลายู ร่วมฉลอง ‘วันอีดิลอัฎฮา’ อวดโฉมอัตลักษณ์ที่ทรงเสน่ห์ได้อย่างอิสระเสรี

‘วันอีดิลอัฎฮา’ เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงความเสียสละของ ‘อิบราฮิม’ ที่ยอมสละชีวิตบุตรชายของตัวเองเพื่อศาสดามูฮัมหมัด แต่ศาสดาได้มอบแกะให้อิบราฮิมเชือดแทน ชาวมุสลิมทั่วโลกจะฉลองวันนี้ด้วยการเชือดสัตว์ เช่น วัว และแพะ จากนั้นจึงนำไปแบ่งปันให้ญาติ มิตรสหาย ตลอดจนบริจาคให้ผู้ยากไร้

ซึ่งในปีนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกมาประกาศว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์ 1 ซุ้ลฮิจญะฮฺ ฮ.ศ. 1444 ตรงกับอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 วันอารอฟะฮฺ ตรงกับวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 และ ถือว่า ‘วันอีดิลอัฎฮา’ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศได้ปฏิบัติศาสนกิจโดยพร้อมเพรียงกัน โดยคาดว่า บรรยายกาศการเฉลิมฉลองในปีนี้ จะเต็มไปด้วยความคึกคักของพี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิม ที่ต่างเดินทางไปร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจโดยพร้อมเพรียง

นอกจากนี้ ชาวไทยมุสลิมทั้งผู้ใหญ่ เด็ก วัยรุ่น ยังสวมเครื่องแต่งกายด้วยชุดมลายู สีสันสวยงาม ยังมีให้เลือกหลากหลาย โดยแต่ละพื้นที่ก็จะนิยมแต่งกายแตกต่างกันออกไป แต่ทุกพื้นที่ก็ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น

ชุด ‘บาจู กูรง’ ลักษณะเด่นของชุดจะเป็นชุดที่ตัดเย็บจากผ้าผืนเดียวกันทำให้สี และลวดลายบนผืนผ้าจะเป็นแบบเดียวกันทั้งชุด มีความประณีตและสวยงาม เป็นชุดที่ดูสุภาพ ช่วยเสริมความโดดเด่นแก่ผู้สวมใส่

‘เสื้อโต๊ป’ ลักษณะชุดยาวคลุมข้อเท้า ผ่าหน้าความกว้างพอสำหรับสวมหัวได้ เสื้อแขนยาว นิยมใช้ผ้าสีขาวตัดเย็บ แต่การออกแบบปกและปลายแขนแตกต่างกัน เช่น คอกลมผ่าหน้ามีภู่ห้อย คอตั้ง ปกเชิ้ต ปลายแขนแบบปล่อย ปลายแขนติดกระดุมแบบเสื้อเชิ้ต หรือใช้ ‘Cufflink’

‘เสื้อปาเต๊ะ’ จากจังหวัดยะลา ตัดจากผ้า Sutra Patek Indonesia (สตรอ ปาเต๊ะ อินโดนีเซีย) เป็นผ้าปาเต๊ะ ที่นิยมสวมใส่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตจะใช้เป็นผ้านุ่ง หรือ ผ้าถุง แต่ปัจจุบันมีการส่งเสริม พัฒนาต่อยอดผ้าท้องถิ่น นำมาออกแบบ ตัดเป็นเครื่องแต่งกาย กระเป๋า รองเท้า และอื่นๆ อีกมากมาย โดยลวดลายของผ้าปาเต๊ะ ส่วนใหญ่มีรูปแบบมาจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หรือรูปเลขาคณิตต่างๆ บางลายก็จะเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นมลายูและจีนเข้าไว้ด้วยกัน ถ่ายทอดออกมาผ่านลวดลายบนผ้า เช่น รูปดอกท้อ ดอกโบตั๋น พัด ลายหงส์ หรือ นกฟินิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การสวมชุดมลายูของชาวไทยมุสลิมในวันสำคัญนั้น ถือเป็นการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม ซึ่งกำลังได้รับการผลักดันให้เป็นมรดกโลก ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นเสน่ห์ และยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกกลุ่มในประเทศนี้ ซึ่งล้วนได้รับการยอมรับ และแสดงออกได้อย่างอิสระเสรี ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมายในประเทศไทย