‘เด็กจีน’ แห่เรียน ‘ภาษาไทย’ คึกคัก หลังมีการปรับหลักสูตร เพื่อพัฒนาบุคคลากร จบไปมีบริษัทจ่อรอรับเข้าทำงานทันที

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, หนานหนิง รายงานว่า บรรดานักศึกษาชาวจีนผู้รักการเรียนภาษาไทยจากสถาบันอุดมศึกษาในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จำนวน 19 แห่ง ต่างงัดทักษะความสามารถด้านภาษาไทยออกมาโชว์กันอย่างเต็มที่ ณ การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยระดับอุดมศึกษาครั้งที่ 16 ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (Guangxi University for Nationalities) เมื่อไม่นานนี้ โดยการแข่งขันในปีนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย และนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเรียนการสอนภาษาไทยในจีนคึกคักมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนให้ทันตามกระแสแห่งยุคสมัย และทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาบุคคลากรที่มีทั้งความสามารถด้านภาษา มีความรู้ความเข้าใจ และมีความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย

‘ฉินซิ่วหง’ คณบดีวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันส่วนมากเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หรือ 3 และหัวข้อการกล่าวสุนทรพจน์และการแข่งขันรายการอื่นๆ ในแต่ละปี จะอิงจากสถานการณ์และกระแสความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เช่น กระแสอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

ฉิน กล่าวว่า “เราคัดเลือกหัวข้อ เช่น หมอนยางพารา ทุเรียน และสินค้าไทยอื่นๆ ที่ชาวจีนสนใจ แล้วให้นักศึกษาแนะนำในรูปแบบการไลฟ์สด นักศึกษาที่ได้รับรางวัลบางคนอาจเซ็นสัญญากับบริษัทที่เกี่ยวข้องได้เลยทันที” พร้อมเสริมว่า ปีนี้การท่องเที่ยวจีน-ไทยกำลังฟื้นตัวอย่างเป็นลำดับ การแนะนำวัฒนธรรมไทย อาหารไทย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อการแข่งขัน

รายงานระบุว่า ตลาดงานในปัจจุบันต้องการบุคคลากรที่มีทั้งทักษะภาษาและความรู้ด้านวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เช่นความรู้ด้านกฎหมายและการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยภาษาหลายแห่งในจีนจึงมุ่งสร้างบุคคลากรที่เก่งหลายด้านในคนเดียว ผ่านการเสริมหลักสูตรวิชาชีพอื่น ซึ่งทำให้หลังเรียนจบผู้เรียนจะได้รับวุฒิปริญญาสองใบ หรือมีประกาศนียบัตรรับรองความสามารถทางวิขาชีพเพิ่มเติม

ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด การแลกเปลี่ยนระหว่างจีน-ไทยเผชิญข้อจำกัด หลายสถาบันจึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาไทยออนไลน์ ขณะที่เว็บไซต์จีนบางแห่งก็มีการสอนภาษาไทยในรูปแบบของการไลฟ์สดและคลิปวิดีโอสั้น ซึ่งกระตุ้นกระแสความนิยมภาษาไทยได้ไม่น้อย ฉิน กล่าวว่า “เยาวชนคนรุ่นใหม่ในจีนนิยมชมชอบ ‘วัฒนธรรมไทย’ และการเรียนภาษาไทย หลังละครไทยกลายเป็นกระแสในจีน” พร้อมเสริมว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์นั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ

‘โอวม่าน’ ผู้อำนวยการภาควิชาภาษาไทยของวิทยาลัยฯ ให้ข้อมูลว่าตำแหน่งงานด้านภาษาไทยที่หลายบริษัทติดต่อมาให้ประกาศให้ในปีนี้ มีมากกว่าจำนวนนักศึกษาเอกภาษาไทยทั้งหมดของมหาวิทยาลัย

‘หยางเย่าหง’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้แข่งขันที่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก เริ่มเรียนภาษาไทยด้วยตนเองเมื่อ 8 ปีก่อน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น “ผมคิดว่าภาษาไทยสนุกมาก มีความคล้ายคลึงหลายอย่างกับภาษาเฉาซ่าน (แต้จิ๋ว) บ้านเกิดของผม”

‘หวงเหม่ยเสีย’ ผู้จบการศึกษาสาขาเอกภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน (Yunnan Nationalities University) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานบริหาร ประจำสาขากว่างซีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าการได้ไปเรียนที่ประเทศไทยในช่วงชั้นปีที่ 3 ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์และทำให้ภาษาไทยของเธอพัฒนาไปอีกขั้น พร้อมเล่าประสบการณ์ความประทับใจที่มีต่อครูชาวไทย

ด้านเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กล่าวว่าภาษาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกัน และเป็นกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นนักศึกษาชาวจีนเรียนภาษาไทยและเข้าใจประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแสดงความหวังว่าบุคคลากรคุณภาพเหล่านี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษา การค้า การลงทุน และอื่นๆ ระหว่างสองประเทศต่อไป