4 สัญญาณอันตราย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจว่า วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ แม้จะมีข้อยุติชั่วคราวไปแล้ว แต่ได้สะท้อนปัญหาการคลังที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทย ซุกไว้ใต้พรมและพร้อมที่จะประทุได้อีกทุกเมื่อ หากไม่มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ใน 4-5 ปีข้างหน้า แนวโน้มฐานะการคลังจะเลวร้ายลงจากสาเหตุ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้งบชำระหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างมาก
2. ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก ทำให้ทุกประเทศต้องจัดงบประมาณด้านการทหารสูงขึ้น
3. การแก้ปัญหาโลกร้อนและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
4. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐในด้านบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพคนชรา และการรักษาพยาบาล

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.0% อาจเป็นการซ้ำเติมภาระหนี้รัฐบาลและประชาชนขึ้นอีก รวมทั้งยังอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทั่วโลกเปิดประเทศหลังโควิด โดยเฉพาะจีน น่าจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund ที่มีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย โดยกองทุนดังกล่าวควรเข้ามาดูแลปัญหาและต้นทุนที่การท่องเที่ยวก่อเกิดกับประเทศไทย เช่น การประกันภัยและการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยว การบูรณะและฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมทรามลง การลดผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากรายได้การท่องเที่ยว