‘ดร.หิ’ ห่วงกระแส ‘ความกตัญญู’ ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนผัน ชี้ อาจทำคนไทยแข็งกระด้าง ทำลายรากฐานอันดีงามของสังคม

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 ดร. หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คุยกับ ดร. หิมาลัย’ ถึงประเด็นค่านิยมความกตัญญูของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ค่อนข้าง ‘น่ากังวล’ เป็นอย่างยิ่ง โดย ดร. หิมาลัย ระบุว่า…

กระแสความกตัญญูของสังคมไทยในตอนนี้เป็นเรื่องที่ตนเป็นห่วง ยิ่งกว่าเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และการเมืองเสียอีก ซึ่งตนไม่ทราบว่าแนวคิดเช่นนี้เข้ามาในสังคมได้อย่างไร

“ผมขอบอกเลยว่า แนวคิดเช่นนี้ เป็นแนวคิดที่ทำลายรากฐานความคิดของคนไทย ทำลายความคิดพื้นฐานดั้งเดิมไปจนหมด และเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ยึดหลักแนวคิดความเท่าเทียม ที่ทุกอย่างต้องเท่าเทียมไปเสียหมด แนวคิดที่บอกว่าพ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณ เพราะเป็นฝ่ายทำให้เกิดขึ้นมาเอง โดยที่ลูกไม่ได้มีโอกาสเลือก ดังนั้นจึงต้องดูแลตามหน้าที่ หากมองในมุมของเขาก็อาจจะถูก เพราะเหรียญย่อมมี 2 ด้าน แต่ในบริบทของสังคมนั้น มีหลายด้าน หลายแง่มุมยิ่งกว่าเหรียญเสียอีก

หากมองแนวคิดนี้ในมุมของคนรุ่นใหม่ก็อาจมองได้ เพราะก็เหมือนกับการมองว่า พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดมาก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงลูก เหมือนกับการซื้อสัตว์เลี้ยงก็ต้องรับผิดชอบดูแล เหมือนกับการที่คุณครูมีหน้าที่สอนหนังสือตามการจ้างงาน รัฐบาล หรือเหมือนกับการที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลรับใช้ประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้เสียภาษีให้ จะมองอย่างนี้ก็ย่อมได้ แต่การมองบริบทสังคมแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นการมองแบบ ‘ไร้หัวใจ’” ดร. หิมาลัย กล่าว

ดร. หิมาลัย ยังได้เล่าถึงแง่มุมชีวิตส่วนตัว ถึงเรื่องราวของคุณแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงของตน พร้อมเล่าว่า ตนนั้นจะเข้าไปกราบเท้าของคุณแม่ที่เตียงเป็นประจำทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น ก่อนไปทำงาน และหลังกลับมาจากการทำงาน

“ความกตัญญู เป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ ไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย” ดร. หิมาลัย กล่าว

เมื่อถามไปถึงเรื่องของรัฐสวัสดิการ ดร. หิมาลัย กล่าวว่า รัฐสวัสดิการเป็นการตอบโจทย์ทางการเมือง และการดูแลประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศ และการจัดตั้งรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป ตามฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เพราะฉะนั้น เรื่องของรัฐสวัสดิการ และความกตัญญู ควรแยกจากกัน เพราะรัฐสวัสดิการ เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย ส่วนความกตัญญู เป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้สึกของแต่ละคน ซึ่งความรู้สึกของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน และไม่มีถูกหรือผิด

“ผมมองว่า เป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งแต่คนก็มีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน น้อง ๆ คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่า เป็นเรื่องของหน้าที่ที่แต่ละคนต้องทำ” ดร. หิมาลัย กล่าว

นอกจากนี้ ดร. หิมาลัย ยังได้บอกเล่าชีวิตการเรียนในวัยเด็กของตนอีกว่า เวลาที่ตนนั้นโดนคุณครูตี ตนมองว่าครูไม่ได้ตีด้วยความโกรธ หรือความเคียดแค้น แต่ตนมองว่าคุณครูท่านอยากจะสั่งสอน และดัดนิสัยที่เกียจคร้านของตนเสียมากกว่า และยังกล่าวถึงความใจดีมีเมตตาของคุณครูที่ท่านคอยให้กำลังใจ และช่วยเหลือตนมาตลอดด้วยความจริงใจ ไม่ได้ทำเพียงเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ แต่เป็นความห่วงใย ความรัก และความผูกพันของคุณครูที่มีต่อลูกศิษย์ทุกคน

“ผมเชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มันอยู่ในหัวใจ เพราะฉะนั้น หากคิดว่าการมีรัฐสวัสดิการที่ดี ที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถดูแลตัวเองได้ในยามแก่ชรา เพื่อที่ลูกหลานจะได้ไม่ต้องคอยไปดูแลแบบที่คนรุ่นใหม่คิด จะคิดแบบนี้ก็อาจไม่ผิด เพียงแต่ผมมองว่า ที่ผ่านมานั้น ความกตัญญูทำให้สังคมไทยอบอุ่น เพราะที่ผ่านมา อาชีพนักจิตวิทยา แทบจะตกงานกันหมด เนื่องจากไม่มีคนไปปรึกษา แต่ในปัจจุบันนี้ อาชีพนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์นั้น ได้รับการตอบรับที่ดีมาก

ผมไม่ได้บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ที่คิดอย่างนี้ คือ ความคิดที่ผิดนะ เพียงแต่ความคิดของผมอาจเป็นชุดความคิดของคนรุ่นเก่าที่ล่าสมัย เป็นความคิดที่แก้ไม่ได้แล้ว ดังที่เขากล่าวกันว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” เพราะหากจะให้ผมไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่รักพ่อแม่ ผมก็ทำไม่ได้ หากพ่อแม่ผมจะมีชีวิตที่ดี กินดีอยู่ดีจากรัฐสวัสดิการแล้วทำให้ผมไม่มีภาระต้องกลับไปดูแล ผมก็ทำไม่ได้ เพราะผมก็มีความรัก ความผูกพัน และคิดถึงท่านอยู่เสมอ ซึ่งการที่ผมยังยึดถือความกตัญญูก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด น้องๆ รุ่นใหม่ที่คิดอีกแบบก็ไม่ผิด เพราะเป็นชุดความคิดที่มีบริบทที่แตกต่างกัน” ดร. หิมาลัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร. หิมาลัย กล่าวว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องแล้วแต่ว่าบริบทสังคมในอนาคตต่อจากนี้ไป จะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจห้ามได้

“ผมต้องขอฝากคนรุ่นใหม่ที่ยังมีความรู้สึกดีๆ ต่อครอบครัว ลูก ๆ คนไหน ยังมีความรู้สึกว่า พ่อแม่ยังเป็นสิ่งที่น่าเคารพ ก็ขอให้รักษาสิ่งนี้เอาไว้ เพราะการที่ได้เกิดมามีครอบครัวที่อบอุ่นนั้น นับว่าเป็นความโชคดี”

ดร. หิมาลัย กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : https://fb.watch/l1zm3FRl2r/