รู้จัก ‘Hope Cooke’ สตรีอเมริกัน ผู้ยอมสละสัญชาติ เพื่อเป็นพระราชินี (องค์สุดท้าย) แห่ง ‘ราชอาณาจักรสิกขิม’

หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘ราชอาณาจักรสิกขิม’ ผมจึงขอเล่าถึง ‘ราชอาณาจักรสิกขิม’ ให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ทราบเป็นสังเขปก่อนครับ

‘ราชอาณาจักรสิกขิม’ ก็คือ ‘รัฐสิกขิม’ ของสาธารณรัฐอินเดียในปัจจุบัน โดยรัฐสิกขิมเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย มีพื้นที่ติดต่อกับทิเบต ประเทศภูฏาน ประเทศเนปาล และรัฐเบงกอลตะวันตก

รัฐสิกขิมเป็นรัฐที่มีประชากรน้อยที่สุดของอินเดีย และมีพื้นที่น้อยที่สุดเป็นอันดับสอง พื้นที่ของรัฐนี้ประมาณ 35% อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคางเชนดองซา อันเป็นแหล่งมรดกโลก อีกทั้ง ‘ราชอาณาจักรสิกขิม’ เป็นประเทศที่สูญเสียเอกราชให้กับอินเดียด้วยลัทธิประชาธิปไตย

ราชอาณาจักรสิกขิม ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 17 และปกครองโดยกษัตริย์นักบวชชาวพุทธซึ่งเรียกว่า ‘โชเกล (Chogyal)’ ราชอาณาจักรสิกขิมเป็นราชอาณาจักรที่ปกครองยาวนานมาเป็นเวลา 333 ปี ปกครองโดย ‘โชเกล’ ซึ่งได้รับการสถาปนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2185 (ค.ศ 1642) ราชอาณาจักรสิกขิมกลายเป็นเป็นรัฐในอารักขาของจักรวรรดิบริติชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2404 (ค.ศ. 1861)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) ภายใต้สนธิสัญญา Tumlong สิกขิมกลายเป็นรัฐมหาราชาหนึ่งภายใต้บริติชอินเดียจนถึงปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) และเป็นรัฐในอารักขาของประเทศอินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ.1950) จนถึงปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) (โดยในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) เกิดการจลาจล ฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมได้เข้ายึดพื้นที่บริเวณหน้าพระราชวังของช็อกยัลเพื่อต่อต้านระบอบกษัตริย์สิขขิม)

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) อินเดียได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครองกรุงกังต็อก นครหลวงของราชอาราจักรสิกขิมเพื่อปราบปรามการจลาจล และตามด้วยการจัดทำประชามติในเรื่องเกี่ยวกับการปกครองและสถาบันพระมหากษัตริย์ของสิกขิมในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ซึ่งปรากฏผลคะแนนให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 22 ของสาธารณรัฐอินเดีย วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 สิกขิมได้เข้าเป็นรัฐสมาชิกของสาธารณรัฐอินเดีย โดยรัฐสิกขิมเป็นรัฐมีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในบรรดารัฐหิมาลัย

ในส่วนของสตรีที่เราจะพูดถึงในวันนี้ เธอมีชื่อว่า ‘Hope Cooke’ เกิดวันที่  24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ที่นครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บิดาของเธอ คือ John J. Cooke อเมริกันเชื้อสายไอริช ประกอบอาชีพเป็นครูการบิน ส่วนมารดาของเธอคือ Hope Noyes เป็นนักบินหญิง

Hope Cooke ถูกเลี้ยงดูและนับถือศาสนาคริสต์นิกาย Episcopal ด้วย Hope Noyes มารดาของเธอเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ขณะมีอายุได้ 25 ปี จากเหตุเครื่องบินตก Hope Cooke และพี่สาวต่างบิดาถูกส่งไปให้คุณตา คุณยาย เลี้ยงดู ตาของเธอเป็นประธานบริษัท J. H. Winchester & Co ซึ่งเป็นนายหน้าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แต่พอเมื่อคุณตา คุณยายของเธอเสียชีวิต เธอก็ถูกส่งไปอยู่ในการปกครองของคุณป้าและลุงเขย คือ Selden Chapin อดีตเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำอิหร่านและเปรู ซึ่งทำให้เธอจบการศึกษาระดับไฮสคูลในอิหร่าน

Hope Cooke จัดว่า เป็นสตรีชั้นสูง (Celebrity) ของสังคมอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) Cooke ได้เข้าศึกษาภาควิชาเอเชียศึกษาของวิทยาลัย Sarah Lawrence และเช่าห้องร่วมกับนักแสดงสาว Jane Alexander ซึ่งเรียนวิทยาลัยเดียวกัน

ในขณะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งด้วยการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เธอได้เดินทางไปอินเดียในช่วงฤดูร้อน และได้พบกับ สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgyal แห่งสิกขิมวัย 36 ชันษา ซึ่งเคยเสกสมรสแล้ว (ในขณะนั้นยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งสิกขิม) ที่ภัตคารของโรงแรมวินดาเมียร์ เมืองดาร์จิลิงของอินเดีย (ขณะนั้น Cooke อายุเพียง 19 ปี)

ทั้งสองรักใคร่ชอบพอกันด้วยเห็นว่า มีชีวิตวัยเด็กที่โดดเดี่ยวคล้ายคลึงกัน ในปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) มีการประกาศการหมั้น แต่พิธีอภิเษกสมรสถูกเลื่อนไปกว่าหนึ่งปี เพราะโหราจารย์ทั้งในสิกขิมและอินเดียต่างเตือนว่า ปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) นั้นเป็นปีไม่มงคลสำหรับการสมรส

ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม พศ. 2506 (ค.ศ. 1963) มกุฎราชกุมาร Palden Thondup Namgyal ได้อภิเษกสมรสกับ Hope Cooke ด้วยราชพิธีมงคลสมรสแบบศาสนาพุทธนิกายมหายาน โดยมีพระลามะ 14 รูป และผู้ที่มาร่วมราชพิธีดังกล่าวมีทั้งราชนิกุลของอินเดีย นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งอินเดียและสิกขิม และเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำอินเดีย

โดย Cooke ยอมสละสัญชาติอเมริกันตามกฎหมายของสิกขิม เพื่อไม่ให้ชาวสิกขิมเห็นว่า เธอยังเป็น ‘คนอเมริกัน’ ในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย แม้ว่ามกุฎราชกุมารจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ Hope Cooke ก็ไม่ได้เปลี่ยนศาสนาจากคริสต์เป็นพุทธอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในช่วงยังเยาว์ เธอเคยปฏิบัติพิธีแบบพุทธศาสนาก็ตาม สื่อต่างชาติตีพิมพ์เรื่องราวที่ดูราวกับเทพนิยายของทั้งสอง ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์

ในช่วงนั้นทั้งชาวอเมริกันและชาวโลกแทบไม่มีใครที่รู้จักราชอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างสิกขิมเลย เมื่อมีการตีพิมพ์ลงข่าวเรื่องราวของการอภิเษกเสกสมรส พวกเขาก็เชื่อว่า ประเทศนี้เล็ก ๆ น่ารัก เป็นมิตร ผู้คนเคร่งศาสนา และสงบสุข แต่ความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่ออินเดียพยายามขยายลัทธิสาธารณรัฐนิยมไปยังประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในจีนและทิเบตก็ส่งผลกระทบต่อราชอาณาจักรสิกขิมด้วย

สมเด็จพระราชาธิบดี Tashi Namgyal ซึ่งทรงเป็นโชเกล (Chogyal) พระองค์ที่ 11 แห่งราชอาณาจักรสิกขิม ซึ่งครองราชย์มายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ได้ลงนามในสนธิสัญญากับอินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) โดยให้สาธารณรัฐอินเดียมีอำนาจเหนืออธิปไตยของราชอาราจักรสิกขิม ส่งผลให้อินเดียเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของสิกขิมบ่อยครั้ง เพื่อจะได้หาโอกาสผนวกเอาราชอาณาจักรสิกขิมเข้าเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย ด้วยอินเดียหวาดกลัวจีนคอมมิวนิสต์ที่อาจจะใช้สิกขิมและภูฏานเป็นด่านหน้าในการโจมตีอินเดีย

สมเด็จพระราชาธิบดี Tashi Namgyal ทรงประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ แม้ว่าสิกขิมจะเป็นราชอาณาจักรเล็ก ๆ โดดเดี่ยว ทรัพยากรน้อย แต่ชาวสิกขิมกลับมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเพื่อนบ้านอย่าง เนปาล และภูฏาน อัตราการรู้หนังสือและรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของราชอาณาจักรสิกขิมมีสูงกว่า อินเดีย (ช่วงที่เริ่มต้นการพัฒนา) เนปาล และภูฏาน แต่อำนาจทางการทหารนั้นมีน้อยกว่าอินเดียมากจนไม่อาจเทียบได้

วันที่ 2 ธันวาคม พศ. 2506 (ค.ศ. 1963) สมเด็จพระราชาธิบดี Tashi Namgyal สวรรคต มกุฎราชกุมารได้ครองราชย์เป็น สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya โชเกลพระองค์ที่ 12 แห่งสิกขิม และ Hope Cooke ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินี Hope (Queen Hope) พิธีราชาภิเษกของพระองค์ในปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) ได้รับความสนใจจากสังคมโลกไม่น้อย ด้วยสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya เมื่อคราวยังเป็นเจ้าชายมกุฏราชกุมารเคยทรงเป็นตัวแทนเจรจาความสัมพันธ์สิกขิมและอินเดียในคราวที่อินเดียได้รับเอกราช

แต่เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ทรงราชย์สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือ บรรดาฝักฝ่ายทางการเมืองในสิกขิม โดยอินเดียให้การสนับสนุนพรรคคองเกรสแห่งชาติสิกขิม (Sikkim National Congress) อันเป็นพรรคการเมืองที่นิยมอินเดีย และปรารถนาให้อินเดียผนวกสิกขิมอย่างเบ็ดเสร็จ มีการให้ร้าย-โจมตีสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ว่า ทรงไร้ความสามารถ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่เป็นที่เคารพของประชาชน และไม่มีประสิทธิภาพในการทรงงาน

ขบวนการต่อต้านพระมหากษัตริย์ดำเนินการโดยนักการเมืองมืออาชีพจากพรรคคองเกรสที่อินเดียสนับสนุน จากนั้นก็ขยายกลุ่มไปสู่ข้าราชการชาวเนปาลที่เข้ามาทำงานในประเทศ ได้เดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ซึ่งเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สั่นสะเทือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กว่า 300 ปีของราชอาณาจักรสิกขิม โดยมองว่า การปกครองขององค์โชเกลไม่เป็นประชาธิปไตย จึงต้องการให้ ‘อินเดียเข้ามาชี้นำประชาธิปไตยในประเทศ’

ความล้มเหลวของสถาบันพระมหากษัตริย์สิกขิมเกิดจากอำนาจและมนต์ขลังความเป็นพระมหากษัตริย์ในพระพุทธศาสนาเสื่อมลงตามกาลเวลา การขาดปฏิสัมพันธ์กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ การเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลังจากที่อำนาจการปกครองอยู่ในมือขององค์โชเกลเป็นเวลานาน แต่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหรือแม้กระทั่ง สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ที่ทรงมีแนวคิดสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ทรงปฏิรูปการเมืองให้เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตยเลย แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายการเมืองนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์โชเกล พอมาถึงปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ระบอบเดิมจึงสั่นคลอน

จากความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลถึงความตึงเครียดในครอบครัวด้วย สมเด็จพระราชินี Hope ซึ่งทรงมีความรักอันหวานชื่นกับ สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya กลับต้องเกิดความระหองระแหง ด้วยสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ทรงหลบลี้พระมเหสีไปคบหากับสตรีชาวเบลเยียมที่มีสามีแล้ว

ส่วนสมเด็จพระราชินี Hpoe ก็ทรงแก้แค้นด้วยการไปคบหากับเพื่อนชายชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวายนี้ สมเด็จพระราชินี Hope ทรงละทิ้งพระสวามี และเสด็จไปนครนิวยอร์กพร้อม พระโอรส พระธิดา ทรงปล่อยให้ สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ต้องทรงรับมือกับสภาวะความวุ่นวายในสิกขิม

Hope ได้เล่าให้สัมภาษณ์ในเวลาหลายปีต่อมาว่า "ฉันทูลพระองค์แล้วว่า ฉันเกลียดหล่อน ฉันทนไม่ได้"

การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ฝ่ายพรรคการเมืองนิยมอินเดียได้รับเสียงข้างมาก และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ทรงเดินหมากทางการเมืองผิดพลาด พระองค์ทรงกีดกั้นรังเกียจรัฐบาลนี้ และทรงปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคนี้ร่าง

สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ทรงต่อต้านแต่ก็ไร้ซึ่งพลัง พระองค์ไม่สามารถเอาชนะในช่วงที่การเมืองถูกครอบงำโดยพรรคคองเกรสแห่งชาติสิกขิม พระองค์จึงทรงต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ราชอาราจักรสิกขิมกลายเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย และรัฐบาลจึงเสนอให้มีการจัดให้มีการลงประชามติเพื่อยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่ามีปัญหาในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) แต่ก็ไม่ได้มีการจัดการลงประชามติดังกล่าวขึ้น เพราะสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ไม่ทรงยอม โดยพระองค์ทรงเรียกร้องให้เป็นการลงประชามติที่อิสระและยุติธรรม ไม่ใช่ภายใต้การครอบงำของพรรคคองเกรสแห่งชาติสิกขิม

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) กลุ่มฝูงชนที่รัฐบาลพรรคคองเกรสแห่งชาติสิกขิมซึ่งรัฐบาลอินเดียสนับสนุนได้บุกเข้าพระราชวังเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้นายกรัฐมนตรี Indira Gandhi แห่งอินเดียส่งกองทัพเข้ายึดครองราชอาณาจักรสิกขิม อินเดียจึงจัดประชามติเพื่อยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์ในปีเดียวกันและผลคือให้ยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรสิกขิม จากนั้นก็ผนวกสิกขิมเข้ากับอินเดียในเวลาเดียวกัน ด้วยคะแนนกว่า 97% เห็นชอบให้เป็นรัฐของอินเดีย (มีรายงานว่า ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนในครั้งนั้นกลับเป็นชาวอินเดียที่เข้ามาอาศัยในสิกขิม แต่ชาวสิกขิมพื้นถิ่นไม่ได้รับสิทธิในการลงคะแนนเลย)

สมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ทรงประณามการลงคะแนนประชามติครั้งนี้ว่า “ผิดกฎหมายและไม่เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ” อดีตสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ทรงถูกเนรเทศ และสุดท้ายทรงหย่ากับอดีตพระราชินี Hope ในปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) และในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) อดีตสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya ก็สวรรคตในนครนิวยอร์ก ด้วยโรคมะเร็ง สิริพระชนมายุ 58 พรรษา

อดีตสมเด็จพระราชินี Hope กลับมาเป็น Hope Cooke เช่นเดิม เธอเลี้ยงดูโอรสธิดาที่เมืองแมนฮัตตัน แต่ก็ไม่ได้รับสัญชาติอเมริกันคืน ด้วยเพราะทำการละสัญชาติไปแล้ว เธอจึงเป็นชาวสิกขิม Hope Cooke ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูโอรสธิดาจากอดีตสมเด็จพระราชาธิบดี Palden Thondup Namgya และได้รับมรดกจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ของเธอเอง จึงสามารถเช่าอพาร์ตเมนต์ที่ย่าน Yorkville ในนครนิวยอร์ก และเริ่มสร้างตัวด้วยตนเอง ในฐานะที่เคยศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เธอเริ่มศึกษาเอกสารเก่าของชาวดัตช์ จากคำเทศนาในโบสถ์เก่า ๆ และบทความหนังสือพิมพ์เก่า ๆ เกี่ยวกับเมืองนิวยอร์ก และได้เป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมของนครนิวยอร์ก รวมทั้งได้เขียนคอลัมน์ประจำสัปดาห์ในเรื่อง ‘Undiscovered Manhattan’ ลงในหนังสือพิมพ์ New York Daily News จากนั้นเธอได้เขียนหนังสือที่ได้รับรางวัล คืออัตชีวประวัติของเธอในช่วงที่อยู่สิกขิมในชื่อ Sikkim, Time Change: An Autobiography (1981)

Hope Cooke แต่งงานใหม่ในปี พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) กับ Mike Wallace นักประวัติศาสตร์และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ดีเด่นจากวิทยาลัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา John Jay (John JayCollege of Criminal Justice)

แต่ต่อมาก็หย่ากัน บุตรชายของ Hope คือ เจ้าชาย Palden เป็นนายธนาคารและที่ปรึกษาการเงินในนครนิวยอร์ก ปัจจุบัน Hope Cooke อาศัยอยู่ในเมือง Brooklyn ทำงานเป็นนักเขียน นักประวัติศาสตร์ และอาจารย์สอนในวิทยาลัย และมีงานเขียนมากมายเกี่ยวกับทิเบตวิทยา ปัจจุบันอายุ 80 ปี

เธอเคยถูกสัมภาษณ์จากนักข่าวในช่วงที่เอกราชของสิกขิมสิ้นสุดลงว่า "คุณยังคิดถึงราชอาณาจักรแห่งเทพนิยายนั้นอยู่หรือไม่" เธอตอบว่า "ถ้าฉันมีความเป็นตัวของตัวเองในช่วงชีวิตตอนแต่งงาน ฉันก็คงไม่สูญเสียราชอาณาจักรเอเชียแห่งนี้ไป"

Hope ได้สาบานว่า จะไม่กลับไปเหยียบสิกขิมอีก “ไม่ ไม่” เธอกล่าวด้วยเสียงเบาลง “มันเจ็บปวดเกินไป (ที่จะกลับไปสิกขิมอีก)”

มีผู้คนในสังคมไทยมากมายที่สนใจและห่วงใยในเรื่องราวแบบนี้ ซึ่งเกิดในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะ ประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย ความล่มสลายของราชอาณาจักรต่าง ๆ นั้น เกิดจากความห่างเหิน ความไม่เข้าใจ การขาดปฏิสัมพันธ์ ความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ ตลอดจนความรักระหว่างสถาบันฯ กับประชาชน ฯลฯ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดและจะไม่มีวันเกิดในบ้านเมืองของเรา อย่าได้สนแรงยุ เรื่องราวที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นเพื่อค่อยป่วน การรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยสติที่หนักแน่นมั่นคง ไตร่ตรองเหตุและผลในความจริงที่เป็นและเห็นอยู่ ไม่ใช่ด้วยลมปาก หรือคำพูด ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีวันตายและปรากฏอยู่ตลอดไป ขอยืนยันว่า ชาติบ้านเมืองจะอยู่รอดด้วยความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย เจริญก้าวหน้าอย่างสงบสุข ก็ด้วยเราท่านคนไทยทุกคน ดั่งเช่นที่เป็นมาร่วมพันปี และจะเป็นไปเช่นนี้ตลอดไป


เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ