15 เมษายน พ.ศ. 2457 พิธีปล่อยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (ลำปัจจุบัน) ลงน้ำ ลำสร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันกระทำพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (ลำปัจจุบัน) ลงน้ำ เป็นเรือพระที่นั่งสร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในขบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีโขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร ลงรักปิดทองทั้งลำ และประดับด้วยกระจก 

ลำปัจจุบันนี้มีการสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) แทนลำเดิม ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว (รัชกาลที่ 4)

ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ลวดลายไม้จำหลักของเรือเป็นลายก้านขดปิดทองประดับกระจกสีเขียว ตลอดทั้งลำเรือยังประดับลวดลายพญานาคเคลื่อนไหวอย่างพลิ้วไหวและทรงพลังหันเศียรไปยังโขนเรือ สีพื้นภายนอกของเรือประดับกระจกสีน้ำเงินสื่อความหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ท้องเรือภายในทาสีแดง พายที่ใช้เป็นพายทองคือ พายที่ทาสีทอง และฝีพายจะพายในท่านกบินเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารคเส้นทางท่าราชวรดิฐ-ท่าพระฉนวนวัดอรุณราชวราราม ได้ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในการเสด็จพระราชดำเนินไป และทรงเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชในการเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ความหมายของชื่อเรือ
ชื่อของ 'เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช' มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ 3 คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย

สัณฐานและกำลังพลของเรือ
ลักษณะของลำเรือ ตัวเรือยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร ลึก 0.87 เมตรใช้กำลังพลรวม จำนวน 72 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 69 นาย ประกอบด้วยนายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 54 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย พนักงานเห่เรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 3 นาย