Amber Alert ระบบเตือนภัยเมื่อลูกหายตัวในสังคมมะกัน แรงขับเคลื่อนจากโศกนาฏกรรม 'เด็กหญิงแอมเบอร์'
การใช้ชีวิตในอเมริกาทำให้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย ได้เรียนรู้ระบบสังคมที่แตกต่างไปจากเมืองไทย
ทุกสังคมมีทั้งแง่บวกแง่ลบ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต้องให้เครดิตสังคมอเมริกาคือ ระบบการเตือนภัยพิบัติ
เมื่อมีเค้าลางว่าเหตุภัยพิบัติ เช่น ทอร์นาโด จะมีการตัดเข้าสู่สัญญาณเตือนภัยทันทีในทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุทุกระบบ ทั้งสถานีวิทยุทั่วไป วิทยุผ่านดาวเทียม หรือวิทยุทางอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงโทรทัศน์ทุกระบบ ทั้งเคเบิลทีวีและสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์
ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่ว่ามา ก็มีสัญญาณเตือนภัยอย่างหนึ่งที่อยากให้ประเทศไทยนำไปใช้บ้าง เพราะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในเรื่องการช่วยเหลือเด็กให้รอดจากการถูกลักพาตัว นั่นคือสัญญาณเตือนภัยที่เรียกว่า 'Amber Alert'
เมื่อเกิดการลักพาตัวเด็กขึ้น ทางตำรวจและหน่วยงานหลายหน่วย จะประสานงานกันแล้วแจ้งเตือนด้วยการแทคข้อความและส่งสัญญาณเสียง ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ในบริเวณที่คาดว่าคนร้ายกำลังมุ่งหน้าไป โดยจะแจ้งให้ทราบถึงรูปพรรณสันฐานใบหน้าของเด็กที่หายไป และลักษณะรถยนต์ที่ใช้ในการลักพาตัวเด็ก
AMBER Alert หรือ a Child Abduction Emergency เป็นสัญญาณเตือนภัย เมื่อมีเด็กถูกลักพาตัวไป มีการนำระบบนี้มาใช้ทั่วประเทศในปี ค.ศ 1996 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากคดีของเด็กหญิงตัวน้อยวัยเก้าขวบชี่อ 'แอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน' ที่ถูกลักพาตัวไปฆ่าในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเท็กซัส
ย้อนหลังไป 27 ปี เมื่อวันที่ 13 มกราคม ปี ค.ศ.1996 เด็กหญิงแอมเบอร์ขี่จักรยานเล่นกับน้องชายอย่างสนุกสนานในลานจอดรถร้างละแวกบ้านตายายของเธอเอง แต่พอตกเย็น ริกกี้ น้องชายวัย 7 ขวบของแอมเบอร์ขี่จักรยานกลับมาเพียงลำพัง
ข่าวนี้โด่งดังไปทั่วประเทศ อเมริกันทั้งประเทศสวดมนต์และเอาใจช่วยครอบครัวของแอมเบอร์กันอย่างชนิดที่เรียกว่า 'จดจ่อ' กันเลยทีเดียว เพราะถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญมากในเวลานั้น
ไม่กี่วันต่อมา พบร่างไร้วิญญาณของหนูน้อยแอมเบอร์ในลำธารข้างทาง ไม่ห่างจากบ้านตายายของเธอเองเท่าใดนัก
มีการส่งศพของแอมเบอร์ไปพิสูจน์หลักฐานพบว่า เมื่อตอนคนร้ายจับตัวหนูน้อยไป เธอยังมีชีวิตอยู่และถูกล่วงละเมิดทางเพศ เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าคนร้ายจะต้องอาศัยอยู่ในละแวกนั้นด้วยเช่นกัน เพราะคนร้ายไม่ได้ทำอันตรายแอมเบอร์ในทันที แต่ลงมือสังหารหลังจากผ่านไปสองวัน
ที่น่าเศร้าที่สุดคือจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังจับกุมคนร้ายที่ฆ่าเด็กน้อยผู้น่าสงสารไม่ได้ คดีนี้จึงค้างคามาจนปัจจุบัน กลายเป็นหนึ่งในคดีที่เรียกว่า Cold Case
ข่าวแสนเศร้าของเด็กหญิงแอมเบอร์ สั่นสะเทือนหัวใจทั่วอเมริกา ทุกคนต่างคิดว่าแอมเบอร์อาจจะไม่เสียชีวิต ถ้าผู้ที่อยู่รอบข้างสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีภายในเวลา 8 นาทีแรก หลังจากที่แม่หนูน้อยขี่จักรยานออกจากบ้าน หรือจนกระทั่ง 8 นาทีแรกหลังจากตำรวจได้รับแจ้งจากผู้เห็นเหตุการณ์ว่ามีเด็กถูกอุ้มขึ้นรถไปในลักษณะลักพาตัว
เรื่องราวสะเทือนขวัญของแอมเบอร์ ก่อเกิดการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในสังคม ทำให้ผู้บริหารของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ในเมโทรเพล็กซ์รวบรวมความคิดในกรณีนี้ มาจัดทำเป็น Amber Alert Plan ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างตำรวจและสื่อมวลชน นำมาใช้งานจริงในปีถัดมา นำร่องที่รัฐเท็กซัส ต่อมาจึงประกาศใช้ Amber Alert ในกรณีเด็กหายทั่วอเมริกา
หลังจากปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นมา สัญญาณเตือนภัยเรื่องการลักพาตัวเด็กนี้แพร่กระจายไปทั่วอเมริกา แพร่ทางสื่อทุกสื่อ ในเวลาที่เกิดการลักพาตัวเด็กและคนร้ายหลบหนีไปในทิศทางไหน ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยุทุกช่องทาง สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมถึงเคเบิ้ลทีวี ไปจนถึงสื่อยุคใหม่ ส่งข้อความเข้ามือถือโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในบริเวณที่คาดว่าคนร้ายกำลังใช้เส้นทางนั้น
แต่ละปีมีเด็กนับร้อยๆ คนถูกลักพาตัวหรือถูกลักพาไปอาทิตย์ละ 2 คน ในจำนวนเด็กที่ถูกลักพาตัวไปนั้น 9 ใน 10 คนเป็นเด็กผู้หญิง ซึ่ง 5 ใน 10 คนถูกลักพาตัวเพื่อกระทำทารุณกรรมทางเพศ ที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือ เมื่อเด็กถูกลักพาตัวไปแล้ว เด็กจำนวน 3 ใน 4 คน จะถูกฆ่าภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังถูกลักพาตัว
มีการรายงานเด็กหายสาบสูญมากกว่าสามแสนรายในอเมริกาแต่ละปี บางรายโชคดีที่สามารถนำเด็กน้อยกลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างปลอดภัย ด้วยความแจ้งเตือนของสัญญาณเตือนแอมเบอร์ แต่บางส่วนก็อยู่ในสภาวะ 'สูญหาย' ตลอดกาล
เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้