เมื่อ Bank Run พาคนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารไปยังสินทรัพย์อื่น ส่งผลกระทบ 'รายย่อยชะลอซื้อหุ้น' หวั่นฟองสบู่ตลาดเงิน
เราจะต้องเตรียมรับมือวิกฤตฟองสบู่แตกลูกต่อไปหรือไม่ ?!? เพราะหลังจากเกิด Bank Run ขึ้นในสหรัฐฯ จนผู้คนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ โดยเฉพาะกองทุนตลาดเงิน (Money Market Funds) ตอนนี้กลายเป็นว่าฟองสบู่ลูกใหม่ล่าสุดได้เกิดขึ้นในตลาดเงินแทนแล้ว !!!
(3 เม.ย.66) World Maker เผย Market Cap ของตลาดเงินเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าเกือบ 5.5 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ! จากที่ต้นปีอยู่เพียง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีเงินไหลเข้ามาราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ !
ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคนแห่หนีความกังวลจากภาคธนาคารมาแสวงหาผลตอบแทนดอกเบี้ยที่สูงกว่าในตลาดการเงิน แต่เมื่อปัญหาด้านการธนาคารเริ่มบรรเทาลง และหน่วยงานกำกับดูแลได้เข้ามาควบคุมเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในระยะยาว แปลว่าการแห่เข้า Money Market Funds อาจไม่ใช่กระแสที่อยู่ได้นานหรือมั่นคง ?
โดยเฉพาะหาก FED เริ่มลดดอกเบี้ยลงหลังจากนี้ เราก็อาจได้เห็นฟองสบู่ในตลาดเงินแตกออกจากการไหลออกของเงินทุนที่เข้ามาในช่วงก่อนหน้านี้ (รวมถึงปัจจุบัน) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใดหลังจากนี้ แต่ในระยะกลางถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะถ้าดอกเบี้ยไปถึงจุด Peak แล้ว และการทำ QT เริ่มจบลง จะหมายความว่าสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยพันธบัตร !
นอกจากนี้ ยอดเงินที่ไหลเข้าสู่ Money Market Fund เริ่มชะลอตัวลง โดยอยู่ที่ 6.15 หมื่นล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากประมาณ 1.26 แสนล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ หมายความว่ายอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ที่พุ่งขึ้นถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็อาจกลายเป็นฟองสบู่ที่รอวันแตก !
📌 ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากกำลังชะลอการซื้อหุ้นลง หลังจากมีการแห่ซื้อจำนวนมากในช่วงต้นปี 2023 ซึ่งทำให้การซื้อหุ้นสหรัฐฯ สุทธิของรายย่อยแตะระดับ All Time High ที่ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์
แต่หลังจากเกิดวิกฤต Bank Run ในเดือนนี้ พบว่าปริมาณการซื้อของรายย่อยได้ลดลงเกือบ -50% จาก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์เหลือเพียงประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของรายย่อยได้ลดลง
ขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ดูเหมือนจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างโดดเด่นท่ามกลางวิกฤต Bank Run ในครั้งนี้ โดย Nasdaq ปิดไตรมาสแรก +17% และ S&P500 ปิดไตรมาสแรก +7.5% ซึ่งบางคนให้ความเห็นว่าเขาอาจจะพลาดโอกาสบางส่วนในขาขึ้นรอบใหญ่ ? แต่เขาต้องการปิดรับความเสี่ยงที่หุ้นอาจจะร่วงลงได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ส่วนหนึ่งของการที่นักลงทุนรายย่อยชะลอการซื้อหุ้นนั้น ก็เป็นเพราะพวกเขาได้นำเงินไปพักไว้ในที่ที่ดูปลอดภัยในระยะสั้น อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น, Money Market Fund, บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง แต่แนวโน้มดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้หลังจากนี้ โดยเฉพาะเมื่อดอกเบี้ยและการทำ QT ได้ไปถึงจุด Peak (อย่างที่อธิบายไปแล้วข้างต้น)
ในระยะสั้น บางคนมองว่าเรายังจำเป็นต้องระวัง After Shock จากวิกฤต Bank Run เนื่องจากผลกระทบของดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้นต่อเศรษฐกิจอาจตามมาด้วยฟองสบู่ลูกอื่น ๆ ที่แตกออก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็เพื่อทำให้เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจชะลอตัวลง
⚠️ นั่นหมายความว่าตลาดหุ้นเองอาจมีความผันผวนมากขึ้นอีกได้ทั้ง 2 ทางในระยะสั้นนี้และยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการปรับฐานได้ แม้ว่าในอนาคตระยะยาวจะมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่ม Zombie Company ที่อาจทยอยล้มหายตายจากไปท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ !
ปัจจุบัน Zombie Company (บริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรหรือขยายธุรกิจ) คิดเป็นประมาณ 15% ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้นจาก 4% ในช่วงปลายทศวรรษ 1980) ซึ่งบริษัทเหล่านี้เอาชีวิตรอดได้ในช่วงยุคดอกเบี้ยต่ำและ Easy Money เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทำกำไรมากในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้
แต่เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงถือเป็นหายนะสำหรับกลุ่ม Zombie Company ทันที เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่มีความสามารถมากพอในการสร้างทำกำไรมาชำระหนี้ที่สูงขึ้นจากดอกเบี้ย ดังนั้นจึงหมายความว่าบริษัทราว 15% ในประเทศพัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง และบางแห่งก็อาจต้องล้มละลายหายไปเรื่อย ๆ จากวงจรการเงินที่ตึงเครียดขึ้นในรอบนี้
แน่นอนว่าหลายแห่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นเช่นกัน แต่ไม่ใช่แค่การลงทุนเท่านั้นที่บริษัทซอมบี้สามารถสร้างผลกระทบได้ เพราะในกรณีที่เกิดการล้มละลายอย่างกะทันหันของ Zombie Company มันก็อาจทำให้คนจำนวนมากตกงาน การบริโภคลดลง และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นอีก (สอดคล้องกับวิกฤต Bank Run ที่เกิดขึ้น) ซึ่งอาจผลักดันให้บริษัทอื่น ๆ เสี่ยงล้มละลายตามอีก
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าวิกฤตในครั้งนี้อาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีตเช่นปี 1930 และปี 2008 แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในบางส่วนอย่างแน่นอน ขณะที่ตลาดหุ้นก็อาจตอบสนองนักลงทุนด้วยความผันผวนที่สูงขึ้นในทั้ง 2 ทาง (คือทั้งขึ้นและลง)
📌 โดยภาพรวมก็คือ : กลุ่มธนาคารยังมีการขาดทุนค้างพอร์ตรวมกันราว -6.2 แสนล้านดอลลาร์หรือ -21.5 ล้านล้านบาทในตอนนี้ และมีหนี้พันธบัตรในระดับ Junk Debt อีกอย่างน้อย 2.5-3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่กองทุน Money Market Fund มีเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็ว และหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ มี Market Cap พุ่งขึ้นอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี
ทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงความตึงเครียดที่ยังคงมีอยู่ และหลายสินทรัพย์ก็มีการประเมินมูลค่าสูงจนอาจยังเรียกว่า “ฟองสบู่” ก็ไม่ผิดในระยะสั้นนี้ แต่ขณะเดียวกัน หากมีกรณีที่หุ้นปรับฐานลงมาอีกครั้ง หรือมีข่าวร้ายเกิดขึ้นอีกหลังวิกฤต Bank Run และทำให้สินทรัพย์อื่น ๆ ร่วงลงจนมีการประเมินมูลค่าค่อนข้างถูก นั่นก็อาจถือเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในระยะยาว !
ส่วนในกรณีที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง รุนแรง โดยไม่มีการปรับฐานเลย อันนี้ก็คงต้องแสดงความยินดีกับคนที่ไม่ได้เทขายหุ้นส่วนใหญ่ออกไปจนหมดพอร์ต และเป็นการแสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้
⚠️ ปู่ Warren Buffett หนึ่งในนักลงทุนระดับตำนานของโลก ได้กล่าวถึงแนวคิดหลาย ๆ อย่างในการลงทุนอย่างประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นที่ผันผวน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแนวคิดของปู่จะเกี่ยวกับการอยู่ในตลาดอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา และทนรอเวลาในระยะยาวให้ได้โดยไม่สนใจความผันผวนในระยะสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ปฏิเสธจริงได้ยากทีเดียว
ที่มา: World Maker