‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัย มิจฉาชีพอ้างเป็น จนท.กองสลากฯ หลอกติดตั้งแอปฯ หวังดูดเงิน-ลวงข้อมูล แนะ ควรตรวจสอบให้ดี

(1 เม.ย.66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพอาจฉวยโอกาส แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หลอกลวงประชาชนเอาทรัพย์สิน หรือเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนี้

ตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ประกาศผ่าน https://www.glo.or.th ยกเลิกการให้บริการจ่ายเงินรางวัลเป็นเงินสด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ถูกรางวัลสามารถเลือกรับเงินรางวัลได้ จำนวน 3 วิธีการ ได้แก่ 1.โอนเข้าบัญชีธนาคารได้ทุกธนาคาร ยกเว้นวงเงินเกินกว่า 2,000,000 บาท ขึ้นไป โอนได้เฉพาะบัญชี ธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เท่านั้น 2.รับเช็คธนาคารกรุงไทย สาขาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเช็คสั่งจ่ายชื่อผู้ขอรับเงินรางวัล 3.รับเงินรางวัลกับตัวแทน ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขานั้น

มิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสดังกล่าวแสวงหาวิธีการมาหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินของประชาชน ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หรือนำไปกระทำผิดกฎหมาย โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสร้างความน่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ปลอมให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมคัดลอกเนื้อหามาจากเพจจริง หรือส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน ให้เพิ่มเพื่อนแอดไลน์ หลอกลวงให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอมซึ่งฝังมัลแวร์และดักรับข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว อาชญากรไซเบอร์จะฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงาน ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องที่หลอกลวงไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับกิจกรรม หรือสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิม คือ การหลอกลวงให้เหยื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอม หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว กรอกรหัสการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะฉะนั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีชื่อเว็บไซต์ที่คิดว่าจะเป็นเว็บไซต์จริง และพึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

​จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ดังนี้

1.) ผู้ถูกรางวัลสามารถเลือกรับเงินรางวัลได้ตามประกาศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวเท่านั้น หากมีการแอบอ้างวิธีอื่นสันนิษฐานว่าคือมิจฉาชีพแน่นอน
2.) การพิมพ์ชื่อหน่วยงานใดๆ เพื่อค้นหาเว็บไซต์ ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือสังเกต URL อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่มีการยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ
3.) เว็บไซต์ปลอมมีองค์ประกอบของเว็บไซต์น้อยกว่าเว็บไซต์จริง มิจฉาชีพหวังเพียงให้เหยื่อคลิกปุ่ม หรือ Pop-up ติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอมเท่านั้น
4.) เว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าคลิกเข้าไปสู่ฟังก์ชั่น หรือคลิกเข้าไปสู่หน้าอื่นๆ ของเว็บไซต์ได้

5.) เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
6.) เพจเฟซบุ๊กจริง จะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป
7.) ติดตั้งแอพพลิเคชั่นผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
8.) ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสยืนยันการทำธุรกรรมธนาคาร 6 หลัก ไม่ควรตั้งให้เหมือนกัน และไม่บันทึกรหัสไว้ในโทรศัพท์มือถือดังกล่าว

9.) อัพเดตโปรแกรมแอนติไวรัส (Anti-Virus) และระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
10.) หมั่นติดตามข่าวสารของราชการอยู่เสมอ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามไปยังศูนย์รับแจ้งข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หมายเลข 0-2528-9999 หรือ https://www.glo.or.th
11.) แจ้งเตือนและเผยแพร่ไปยังคนใกล้ตัว หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ


ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/news_3905214