กลับตัวทัน!! ทิ้งชีวิตเสเพล มุ่งหน้าไขว่คว้าหาความรู้ แนะคนจะเรียนต่อสหรัฐฯ เตรียมตัวดีมีชัยกว่าครึ่ง

เหตุการณ์ระทึกใจกับเจมส์และไมเคิลเหมือนเป็นลางเตือนให้เราเปลี่ยนการใช้ชีวิตสนุกไปวันๆ เราจึงตั้งปณิธานไว้ว่าเราจะเที่ยวแค่อาทิตย์ละวันแทนอาทิตย์ละหกวันเพื่อที่จะมุ่งหน้าสมัครเรียนปริญญาโท ก่อนที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่อเมริกาเราเรียนวิชาเอกภาษาสเปนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สมัยนั้นเด็กนักเรียนสายศิลป์ภาษามักจะนิยมเลือกเรียนคณะอักษรฯ เพราะเป็นคณะที่คะแนนสูงที่สุด เราสมัครตามเพื่อนๆโรงเรียนเตรียมอุดมฯทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ว่าคณะนี้มีเรียนอะไรบ้าง เรารู้แต่ว่ามีเรียนภาษาต่างชาติที่เราถนัดทั้ง ๆ ที่ใจของเราอยากจะเรียนโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์มากกว่า เราเลยเลือกวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ไว้เป็นอันดับสอง นึกในใจว่าอย่างไรซะเราคงไม่ติดอันดับหนึ่งแน่ ๆ เพราะอาจารย์แนะแนวฟันธงว่าเราไม่น่าจะติดคณะอักษรฯ เพราะผลการเรียนของเราไม่สูงพอที่จะเป็นไปได้ คงเป็นเพราะแกงจืดต้มหัวปลาที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ทานตอนสอบเอนทรานซ์ หรือแรงตั้งใจฮึดสู้ที่อยากจะเอาชนะการคาดการณ์ของอาจารย์แนะแนว เราดันติดคณะอักษรฯ ตอนแรกๆคุณพ่อเราไม่เห็นด้วยที่เราจะเรียนภาษาต่อเพราะท่านไม่เห็นประโยชน์ที่จะมาสานต่อทางธุรกิจของท่านในอนาคต ท่านเลยคะยั้นคะยอให้เราไปลองเรียนที่ ABAC ก่อนเผื่อจะชอบ ใจจริงเราไม่เคยชอบธุรกิจ แต่ขัดท่านไม่ได้จึงเรียนฆ่าเวลาไปพลางๆก่อนที่จุฬาฯ จะเปิดเทอม 

เมื่อถึงเวลาเราก็บอกท่านว่าเราอยากเรียนภาษาต่างประเทศอีกสักสี่ปีแล้วค่อยไปต่อปริญญาโทที่เกี่ยวกับด้านธุรกิจ เนื่องจากเราเรียนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเตรียมฯมาเป็นเวลาสามปีแล้วเราเลยรู้สึกเบื่อกับมัน เราตั้งใจจะเรียนภาษาตะวันตกใหม่ๆ ตอนปีหนึ่งเราลงเรียนภาษาอิตาเลียน แต่เราใจแตกที่มีอิสระเป็นครั้งแรกที่ขับรถเองไม่ต้องมีคนขับรถของทางบ้านมารับมาส่งตามเวลา เราจึงมักจะโดดเรียนไปเดินตามห้างมาบุญครองหรือสยามเซนเตอร์ จนอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งอาจารย์ที่สอนภาษาอิตาเลียนไม่เคยเห็นหน้า ถึงเราสอบผ่านทุกครั้ง แต่คะแนนจิตพิสัยนั้นแทบไม่มีเลย ผลออกมาโดนแมวข่วนได้ซีตามระเบียบ 

พอถึงปีสองต้องเลือกวิชาเอก บังเอิญฟังเพลง “La Isla Bonita” ของมาดอนนาอยู่ในรถ ฟังท่อนที่นางพูดภาษาแปลกหูแต่โรแมนติกเลยถามรุ่นพี่ที่คณะจนได้คำตอบว่าที่นางพูดนั้นเป็นภาษาสเปน เราก็เลยตัดสินใจเลือกเรียน อย่างไรเราก็ละนิสัยขี้เกียจไม่ได้ เรียน ๆ โดด ๆ จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องเรียกไปตักเตือนว่าให้ตั้งใจเรียน มิฉะนั้นจะเรียนไม่จบ ด้วยความกลัวทางบ้านจะเสียใจ เลยขยันขึ้นมาในปีสามและปีสี่จนได้เกรดสูงขึ้นและจบปริญญาตรีภายในสี่ปี ตอนใกล้จบเราบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าเราจะไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา พอท่านได้ยินก็พากันค้านว่าปริญญาโทก็พอสำหรับการทำธุรกิจ แต่เรายังคงยืนกรานว่าเราอยากเรียนถึงปริญญาเอก ด้วยความรักลูกท่านทั้งสองเลยอนุญาตให้เราเรียน ตอนที่จะมาอเมริกาเรายังไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนสายไหน แต่แล้วเหมือนหลอดไฟติดขึ้นในหัวสมองว่าเราเคยอยากเรียนโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ก่อนเข้าจุฬาฯ เราควรจะมาเรียนต่อสาขานั้นแต่มาคิดอีกทีเราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนั้นเลย ทางมหาวิทยาลัยที่อเมริกาคงไม่รับเราเข้าเรียนแน่ ๆ เมื่อเราคิดได้เช่นนั้นเราก็เลยปรึกษากับพี่สาวดู โชคดีที่พี่เขามีเพื่อนที่ทำบริษัทประชาสัมพันธ์เขาเลยฝากฝังให้เราฝึกงานที่บริษัทนั้นก่อนที่จะเดินทางมาเรียนต่อ 

ขณะที่เราฝึกงานเป็นช่วงที่เสื้อผ้าแบรนด์เนมจากยุโรปเริ่มที่จะมาเปิดสาขาในประเทศไทยและทางบริษัทที่เราฝึกงานได้รับเลือกเป็นผู้ประสานงานและทำประชาสัมพันธ์ของเหล่าแบรนด์ต่างๆ เราเลยมีโอกาสเข้าร่วมจัดแฟชั่นและจัดหาสื่อโฆษณาจนมีผลงานสะสมไว้เพื่อเป็นหลักฐานสมัครเข้าหลักสูตรปริญญาโท 
 
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในบทความแรกๆว่าเราสอบวัดระดับได้เรียนภาษาอังกฤษในระดับเกือบสูงสุด ช่วงนั้นทางโรงเรียนสอนภาษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Boston University สนับสนุนให้นักเรียนที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูงให้ไปลองสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้หนึ่งวิชาในตอนบ่าย แต่มีเงื่อนไขที่ว่าวิชาที่เลือกเรียนในช่วงที่เรียนภาษานั้นจะไม่นับหน่วยกิต เราเลยเลือกเรียนถ่ายภาพเพราะเป็นวิชาที่เราอยากเรียนอยู่แล้ว ตอนที่เราไปเรียนถ่ายภาพเราได้รู้จักกับนักเรียนคนไทยชื่อแพร์ซึ่งกำลังเรียนโฆษณาที่ College of Communication ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้น 

แพร์ได้แนะนำให้เราไปคุยกับฝ่ายรับนักเรียนปริญญาโทโดยตรง เพื่อที่เขาจะได้ทำความรู้จักกับเราและรู้ถึงความจำนงที่เราจะสมัครเข้าหลักสูตรปริญญาโทของคณะเขา แพร์บอกว่าการเข้าไปพบเป็นการส่วนตัวจะเอื้อให้เขาตัดสินใจรับเราได้มากกว่าถ้าเราแค่สมัครผ่านไปรษณีย์ เราเห็นด้วยกับคำแนะนำของแพร์ เราจึงนัดคุยกับหัวหน้าแผนกรับนักเรียนปริญญาโท เมื่อเขาเห็นว่าเราใช้พูดอังกฤษรู้เรื่อง เขาก็ให้เราสมัครอย่างเป็นทางการพร้อมกับลงเรียนวิชาระดับปริญญาโทสองตัวเพื่อแสดงความสามารถควบไปกับการเรียนภาษาเพื่อรักษาสถานภาพนักเรียนเต็มเวลาตามที่ทางกฎหมายสหรัฐฯได้บัญญัติไว้สำหรับนักเรียนต่างชาติ ถ้าหากว่าเราได้เกรดของสองวิชานั้นไม่ต่ำกว่าบี โอกาสที่เขาจะรับเราเข้าโปรแกรมก็จะสูงขึ้น 

เราได้พยายามตั้งใจเรียนและสอบ TOEFL กับ GRE เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบใบสมัคร ตอนแรกๆที่เราเรียนวิชาระดับปริญญาโทสองอาทิตย์แรกๆ เราก็มึนเพราะเราจับใจความสิ่งที่อาจารย์อเมริกันพูดไม่ได้ แถมเรื่องตลกหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนในประเทศนี้เราก็เข้าไม่ถึงเพราะแทบจะไม่มีภูมิหลัง ต้องอาศัยเพื่อนร่วมชั้นช่วยอธิบายหลังจากเลิกเรียน เลยอยากจะบอกไว้เป็นอุทาหรณ์ต่อท่านผู้อ่านหรือบุตรหลานของท่านที่จะมาศึกษาต่อด้านสื่อสารมวลชนในอเมริกาให้เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ให้เข้าถึงสื่อฯอเมริกันโดยดูรายการโทรทัศน์ต่างๆ,โฆษณา,ภาพยนต์และข่าวของสหรัฐฯเพื่อมีความรู้พื้นฐานที่จะเข้าใจเนื้อหาที่เขาสอนและสามารถออกความเห็นร่วมกับนักเรียนในห้องอย่างมีประสิทธิภาพ ปรัชญาการศึกษาในอเมริกาเชื่อกันว่าการแสดงความเห็นและสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อที่เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่พัฒนาปัญญาและเข้าถึงบทเรียนที่กำลังเรียน ถ้าผู้ใดสนใจอยากเรียนทางด้านสื่อสารมวลชนในเมืองบอสตัน College of Communication ที่ Boston University มีชื่อเสียง คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณก็จบมาจากที่นี่ ข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ในลิ้งค์นี้  https://www.bu.edu/com/ หรือถ้าใครอยากจะเรียนมหาวิทยาลัยเล็กๆ ผู้เขียนขอแนะนำ Emerson College ที่อยู่ในกลางใจเมือง แถมใกล้กับChinatownอีก ลองตามดูข้อมูลที่นี่ได้เลย https://emerson.edu/majors-programs/undergraduate-majors-minors  
 
เมื่อเราเรียนค่อนข้างหนักทั้งภาษาและวิชาระดับปริญญาโทสองตัว การบ้านเยอะมากจนแทบจะไม่มีเวลาพัก เราเรียนแบบนี้ได้เป็นเวลาหนึ่งปีก็ได้รับเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโทเต็มตัว ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยมักจะสอนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาตอนหลังห้าโมงครึ่ง เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ทำงานเต็มตัวและมาเรียนหลังเลิกงาน แต่ละวิชาจะเจอกันอาทิตย์ละครั้งจึงใช้เวลาเรียนสามชั่วโมงต่อรวด ถ้าวิชานั้นไม่มีสอบนักเรียนต้องทำโปรเจกต์ส่งสองหน ตอนครึ่งเทอมและปลายเทอมก็หนึ่งหนเป็นโปรเจกต์ใหญ่ตอนปลายเทอมไปเลย ถ้าเป็นอย่างหลังต้องอย่านอนใจรอไว้ทำอาทิตย์สุดท้าย ควรที่จะเตรียมทำไปเรื่อย ๆ ระหว่างที่เรียนเพื่อที่จะสร้างงานที่มีคุณภาพและมีเวลาที่จะปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เรียนเหนื่อยแล้วก็อย่าลืมพักผ่อนหาสันทนาการเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ ในบอสตันก็มีโชว์ไม่แพ้บรอดเวย์เหมือนกันนะจะบอกให้ 


เรื่อง : ดร.ชัยวุฒิ จิตต์กุศล