กลุ่มคนรัก "ทักษิณ ชินวัตร" อาจยังรู้สึกตื่นเต้น แต่เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่รู้สึกชาชินไปเสียแล้ว

กลุ่มคนรัก "ทักษิณ ชินวัตร" อาจยังรู้สึกตื่นเต้น แต่เชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่รู้สึกชาชินไปเสียแล้ว เมื่อได้ยินเจ้าตัวออกมาสร้างกระแสด้วยการประกาศ จะ "กลับบ้าน"

16 ปีแห่งความหลัง กำลังจะย่างก้าวเข้าปีที่ 17 ที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ต้องระหกระเหิน หลบหนีหลายคดีไปอยู่นอกประเทศหลังเกิดรัฐประหาร 2549 จากนั้นเป็นต้นมา การสร้างกระแส "กลับบ้าน" ก็เกิดขึ้นแทบทุกปี

ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหมาดๆ เมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา "ทักษิณ" ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่นว่าเขาพร้อมรับโทษจำคุกในประเทศไทยหากแลกกับการได้ใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร

“ผมติดคุกใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ... ถ้าผมต้องทนทุกข์ทรมานอีกครั้งในคุกที่เล็กกว่านั้น ก็ไม่เป็นไร”

ย้อนกลับไปแค่ช่วงต้นปี ปลายเดือนมกราคม เจ้าตัวก็เอ่ยปากจะกลับบ้านแบบไม่ต้องมี "ดีลลับ" ไม่ต้องอาศัยพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องใช้กฎหมาย(นิรโทษ) ไม่ต้องเกี้ยเซียะพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลายคนก็ตีความเงื่อนไขนี้ ว่าคงเหลืออยู่ทางเดียวที่กลับบ้านได้คือยอมกลับมา "ติดคุก"

ย้อนวิบากกรรมของอดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" เกิดขึ้นตั้งแต่มีการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ขณะนั้นเขาอยู่ระหว่างเตรียมประชุมสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่ง "ทักษิณ" เปิดเผยผ่านคลับเฮาส์เมื่อปีที่แล้ว ว่าขณะถูกยึดอำนาจ เขาตั้งใจ "กลับบ้าน" แต่ฝ่ายปฏิวัติไม่ให้เครื่องบินขึ้น เพราะกลัวเขากลับเข้าเมืองไทย จึงตัดสินใจเดินทางไปตั้งหลักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

1 ปีหลังรัฐประหาร ปี 49 พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ส่วนหนึ่งมาจากประโยคหาเสียง "เลือกสมัคร พาทักษิณกลับบ้าน" และครั้งนั้น ก็เป็นครั้งเดียวที่ "ทักษิณ" ได้กลับบ้านจริงๆ

28 กุมภาพันธ์ 2551 ภาพทักษิณ ก้มลงกราบแผ่นดินทันทีที่เดินทางกลับถึงบ้านเกิด กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ ขณะนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินคดีที่ดินรัชดา แต่ผ่านไปเพียงแค่ 5 เดือน ทักษิณก็ขออนุญาตศาลออกนอกประเทศ เพื่อไปบรรยายพิเศษที่ญี่ปุ่น ก่อนเดินทางไปดูไปดูพิธีเปิดโอลิมปิกที่ประเทศจีน และไม่เดินทางกลับไทยอีกเลย หลังจากนั้นเขาถูกศาลตัดสินจำคุกในหลายคดี

แม้ตัวอยู่เมืองนอก แต่ตลอดห้วงเวลาที่มีการชุมนุมของมวลชนคนเสื้อแดง ทักษิณยังสื่อสารผ่านวิดีโอคอล วอนขอให้พาเขากลับบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงที่สถานการณ์เริ่มร้อน เขาปลุกระดมคนเสื้อแดงว่า ถ้าเมื่อไหร่เสียงปืนแตก ทหารยิงประชาชนจะกลับมานำประชาชนเดินเข้ากรุงเทพฯ ทันที

แต่สุดท้ายก็ไร้เงา จนกระทั่งผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ ปี 53 คล้อยหลังจากนั้น 2 ปี ทักษิณสื่อสารเรื่องกลับบ้านกับคนเสื้อแดงด้วยท่าทีเปลี่ยนไป จากอ้อนวอนให้พากลับบ้าน เป็นขอขอบคุณคนเสื้อแดงที่แจวเรือส่งถึงฝั่ง ที่เหลือตัวเขาจะขอขับรถขึ้นเขาต่อด้วยตัวเอง และเพียงไม่นานหลังพรรคเพื่อไทยเดินหน้าผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ก็ถูกแรงต้านจนมีอันต้องพับเก็บไปแบบไม่เป็นท่า

 

กาลผ่านล่วงเลย จากยุคอนาล็อก เข้าสู่ยุคดิจิทัล จากโฟนอิน มาเป็นวิดีโอคอล จนวันนี้ เข้าสู่ยุคคลับเฮ้าส์ ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแต่ประเด็น "กลับบ้าน" ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ยังคงถูกเจ้าตัวหยิบยกมาพูดถึงตามวาระครบรอบเหตุการณ์ต่างๆ แทบทุกปี เรียกว่าเป็นประเด็นสื่อสารตามฤดูกาลไปแล้ว

แต่ไม่ว่าจะเป็นความพยายามหาทางให้ "ทักษิณ" ได้กลับประเทศไทยจริงๆ หรือหวังใช้เป็น "จุดขาย" เพื่อเอาชนะในเกมทางการเมืองก็ตาม ต้องยอมรับว่าหลายครั้งเคยถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในการปลุกระดม เรียกคะแนนจากคนรักทักษิณ และฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างได้ผล แต่อีกด้าน การออกมาพูดซ้ำๆ บ่อยๆ นอกจากทำให้ดูขาดความหมาย ไร้ความน่าเชื่อถือแล้ว วลี "พาทักษิณกลับบ้าน" ที่มีวาระซ่อนเร้น อาจเป็นการเร่งกระแสตีกลับ เทคะแนนเสียงให้คู่แข่งทางการเมืองเหมือนปรากฏการณ์ "ไม่เลือกเราเขามาแน่" ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นอกจากผลลัพธ์ทางการเมือง ยังมีอีกแง่มุมให้ชวนคิด จากปากคำของอดีตขุนพลที่เคยร่วมต่อสู้ อย่าง "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน และอดีตประธาน นปช. ที่ออกมาพูดถึงความต้องการ "กลับบ้าน" ของทักษิณตลอดระยะเวลา 16 ปี นอกจากถูกมองว่าไม่รักษาสัจจะและคิดถึงแต่ตัวเองแล้ว ระหว่างทางยังแลกมาด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ และชีวิตของผู้ร่วมต่อสู้เรียกร้องประขาธิปไตยร่วมกันมา

"ลูกน้องของนายกฯทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักต่อสู้ เขาติดคุกกันทั้งนั้น ยกเว้นคนที่ไปกับท่านก็ว่ากันอีกแบบ แต่ว่าโดยส่วนใหญ่เขาก็ไม่หนี ตายในคุกก็มี เพราะฉะนั้นความทรมานเขามากกว่าท่านไม่รู้สักกี่เท่า ท่านอยู่ต่างประเทศมีความสุขมากที่สุดแล้ว ใครๆ ก็ไปหา"

ในความเป็นจริงแล้ว ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่มีใครขับไสไล่ส่งอดีตนายฯทักษิณไปอยู่ต่างประเทศ และเช่นกัน ที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครห้ามอดีตนายฯ ทักษิณกลับเข้าประเทศไทย การออกมาพูดเรื่องกลับบ้านพร้อมยอมติดคุก และไม่นำไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ ก็ดูจะเป็นทางที่เป็นไปได้

แต่สุดท้ายแล้ว มีเพียงคนเดียวที่พาทักษิณกลับบ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นในวันหนึ่ง วันใดนั้น ก็ใช่ใครอื่นนอกจากตัวของเขาเอง