30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ‘โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง 'โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน' อันเป็นจุดกำเนิดของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง 'โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน' ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระราชปรารภที่จะทรงจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้ทันกาลสมัย จึงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย

พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ 'พระเกี้ยว' มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน การดำเนินงานของโรงเรียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิดพระองค์ และด้วยประเพณีโบราณที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็กก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่น ๆ ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น 'โรงเรียนมหาดเล็ก' เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445 เพื่อเป็นรากฐานของสถาบันการศึกษาขั้นสูงต่อไปในอนาคต

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์จึงให้คงชื่อไว้สืบไป