พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้านายที่ 'คณะราษฎร-ปรีดี-จอมพล ป.' ชื่นชอบ

ในตอนนี้ผมจะมาเล่าถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้านายพระองค์หนึ่งที่สามารถทำงานร่วมกับคณะราษฎรได้ อย่างกลมกลืน และขึ้นถึงจุดสูงสุดโดยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ด้วยพระชนมายุเพียง 31 พรรษา สามารถฝ่ามรสุมทางการเมืองภายในคณะราษฎรมาได้อย่างตลอดรอดฝั่ง แถมเป็นที่ 'ปลาบปลื้ม' ของคณะราษฎรอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ผู้นำฝ่ายพลเรือนอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ มาถึงผู้นำฝ่ายทหารอย่าง พระยาพหลพลพยุหเสนา ก่อนที่คณะราษฎรจะกลายเป็นคณะของข้าพเจ้าภายใต้การปกครองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระองค์ทำได้ยังไง ? 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติแต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 มีพระนามแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 4 พรรษา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระมารดาได้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เองด้วยการเสวยยาพิษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไปทรงเลี้ยงดู ต่อมาไม่กี่ปี หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภาตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน วันหนึ่งทรงเล่นน้ำแล้วพลาดจมน้ำ เผชิญมีผู้ช่วยเหลือไว้ได้ พระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงทำขวัญ พระราชทานน้ำมหาสังข์ ทรงเจิม และผูกข้อพระกร แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น 'พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา' เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 นับว่าได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษต่างจาก เจ้าพี่ เจ้าน้อง 

เมื่อ พ.ศ. 2460 พระชนมายุได้ 13 พรรษา เข้าศึกษาที่โรงเรียน Fessenden สหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงย้ายมาศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ โดยแรกเริ่มราว ๆ 2 ปี พระองค์ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ จากนั้นพระองค์ทรงมีอาการประชวร จึงลาออก แล้วเข้าศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนทรงจบหลักสูตรวิชาปกครองในปี พ.ศ. 2470 ได้ปริญญา B.A. และ M.A. จึงเสด็จกลับประเทศสยาม ซึ่งที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นี่เอง ที่พระองค์ได้ศึกษากับศาสตราจารย์จอห์น ฮอลแลนด์-โรส ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสและนโปเลียน หลังทรงสำเร็จการศึกษาแล้วก็ทรงกลับมารับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ในยุคที่มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เป็นเสนาบดี โดยตำแหน่งเจริญก้าวในการทรงงานจนได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 นอกจากนี้ยังทรงเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตสภา ซึ่งก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2470

ณ ราชบัณฑิตยสภานี้เองที่พระองค์ได้ทรงรู้จักกับนักเรียนนอกสายฝรั่งเศสที่ชื่อ 'ปรีดี พนมยงค์' ด้วยความที่ทั้งสองต่างสนใจในเรื่องฝรั่งเศส จึงค่อนข้างให้ความเคารพและมีความสนิทกันพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ทรงเป็นพระอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างที่เป็นพระอาจารย์อยู่นี้ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสและชีวประวัติของนโปเลียนเป็นภาษาไทยใน พ.ศ. 2477 เพื่อใช้เป็นตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งคนที่ผลักดันให้เกิดหนังสือเล่มนี้พร้อมเขียนคำนำให้ก็คือ 'ปรีดี พนมยงค์' นั่นเอง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เล่าเรื่องเปรียบเทียบสภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนังสือที่ 'สร้างความชอบธรรม' ให้เกิดขึ้นกับคณะราษฎรนั่นเอง ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ 'ปรีดี' จะใช้โอกาสอันงามนี้ในการทั้งผลัก ทั้งดัน ให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น และเกิดขึ้นโดยฝีมือของเจ้านายชั้นสูงในราชวงศ์ !!! 

ย้อนกลับนิดนึงในวันที่คณะราษฎรยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ทรงเรียกข้าราชการทั้งหมดอาณัติมาประชุมหารือ โดยได้ข้อสรุปว่าพระองค์และข้าราชการจังหวัดนครปฐม ตัดสินใจ 'สนับสนุนคณะราษฎร' ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือยืนข้างคณะราษฎรเลยล่ะ 

แต่การอยู่ฝั่งคณะราษฎรก็ใช่จะไม่โดนจัดหนัก เพราะในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ 'เจ้านาย' ที่คณะราษฎรชื่นชอบพระองค์นี้ถูกชาวคณะจัดหนัก กราบบังคมทูลฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นเจ้านายที่ 'ได้ใช้ถ้อยคำอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบ…เสียดสีคณราษฎรด้วยอาการอันไม่สมควร' งง พอสมควร ยึดอำนาจมาแล้ว แต่เวลามีปัญหาก็ไปกราบบังคมทูลฟ้อง สุดยอดความย้อนแย้งจริง ๆ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ท่านก็ทรงมีพระเมตตา ทรงเรียกให้มาปรับความเข้าใจกัน 

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จึงเสด็จฯ มารีบมอบพระองค์และให้คำมั่นว่าจะไม่คิดร้ายต่อคณะราษฎร และได้ส่งสุนทรพจน์เรื่อง 'การปกครองในระบอบใหม่' ที่พระองค์ประทานแก่ราษฎรจังหวัดนครปฐมให้คณะราษฎรทราบ ซึ่งได้รับความชื่นชอบอย่างมาก จนคณะราษฎรถึงกับกล่าวสรรเสริญพระองค์ว่า 'เป็นเจ้าที่รักชาติพระองค์หนึ่ง สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าอื่นๆ ได้' ถึงขนาดที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร มีหนังสือชมเชยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยยึดแนวทางของพระองค์ไปใช้ในการอบรมข้าราชการและประชาชนเพื่อให้เข้าใจในระบบการปกครองใหม่ด้วย เอาสิ !!! 

ซึ่งการแสดงพระองค์ลักษณะนี้ก็ทำให้พระองค์ทรงได้รับความไว้วางใจ จากนครปฐมพระองค์ก็ได้ย้ายไปทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และรักษาการแทนสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งในช่วงนั้นได้เกิดเหตุกบฏบวรเดชขึ้น หลังจากพระองค์ทรงได้รับหนังสือเตือนจากรัฐบาล พระองค์ทรงสั่งให้หน่วยความมั่นคงของจังหวัด จัดเตรียมการลาดตระเวนและจับทหารของกลุ่มกบฏ อย่างเข้มแข็ง รัฐบาลก็เลยได้โอกาสปราบปรามกบฏทางฝั่งอีสานโดยไม่ต้องห่วงภาคใต้เลย หลังจากเหตุการณ์สงบ รัฐบาลได้มอบ 'เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ' ให้แก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชนที่มีส่วนร่วมในการปราบกบฏ ซึ่งพระองค์ ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ได้รับทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญดังกล่าว เรียกว่าคณะราษฎรไว้วางใจมาก สุด สุด 

ความไว้ใจนี้ยังไปต่อครับทุกท่าน เมื่อจบเหตุกบฏบวรเดชแล้ว จากภูเก็ตพระองค์ก็ได้รับตำแหน่งเป็น 'ราชเลขานุการในพระองค์' พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แทน ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ที่ถูกปลด ด้วยพระชันษาเพียง 29 เท่านั้นเอง แต่ตรงนี้ก็พอจะเข้าใจ เพราะ 'หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา' หม่อม ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นนางพระกำนัลใน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งตรงนี้ส่งผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งคณะราษฎรยังมั่นใจได้ว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์นั้นจะไม่หันกลับไปสนับสนุนสถาบันฯ เหมือนเจ้านายพระองค์อื่น ๆ แต่การเป็นราชเลขานุการในพระองค์เป็นแต่เพียงไม่นานเพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จ ฯ ไปต่างประเทศ โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะราษฎรได้เลือก 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์' ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมาชิกอีก 2 ท่านคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก่อนที่ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา 'กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์' ได้ทรงปลงพระชนมชีพเนื่องจากความกดดันจากทั้งพระราชวงศ์และคณะราษฎรที่ถาโถมใส่พระองค์ หลังจากนั้นคณะราษฎรตัดสินใจเลือก พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาให้ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมกับการแต่งตั้ง นายเสวก นิรันดร หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรซึ่งใกล้ชิดกับ จอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (นายเสวกนี่เองคือตัวเบียดบังทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เลยขอบอก) และนายเสวกก็ยังเป็นเลขาส่วนพระองค์ในพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไปพร้อมๆ กัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 พระยาพหลพลพยุหเสนาและจอมพล ป. ผู้ซึ่งให้ความเคารพและไว้วางใจพระองค์เป็นอย่างมาก ได้ขอพระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้แก่พระองค์จาก 'พระวรวงศ์เธอ' เป็น 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ' นอกจากนี้ยังขอพระราชทานยศนายพลโท นายพลเรือโท และนายพลอากาศโทให้แก่พระองค์ แม้พระองค์จะไม่เคยรับราชการทหารใดๆ มาตลอดพระชนชีพ 

มาถึงสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พระองค์ก็ทรงให้การสนับสนุนนโยบายของจอมพล ป. ไม่เคยขัดขวางร่างกฎหมายใดๆ ที่จอมพล ป. เสนอมา แม้แต่ร่างเดียว แม้ว่าร่างกฎหมายบางฉบับจะเป็นการปกครองระบอบแบบเผด็จการอย่างเต็มสูบและทำให้จอมพล ป. กลายเป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จก็ตาม ทรงลงพระนามให้ในกฎหมายทุกฉบับ (พระมหากษัตริย์มิได้ลงพระนามาภิไธยใด ๆ มาตั้งแต่สมัยคณะราษฎรนะครับ บอกไว้ก่อน) และสิ่งที่จอมพล ป. น่าจะชอบใจที่สุดก็คือเมื่อกองทัพไทย ‘ชนะ’ สงครามไทย-ฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2484 กองทัพไทยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอเลื่อนยศให้ จอมพล ป. ซึ่งในเวลานั้นเป็น 'พลตรี' ให้เป็น 'พลเอก' ปรากฏว่าทรงตัดสินพระทัยพระราชทานยศ 'จอมพล' แถมด้วยสายสะพายนพรัตน์ที่มีท่านผู้นำเท่านั้นที่มี ไปอีก สุดลิ่มทิ่มประตูจริงๆ 

แต่กับจอมพล ป. นั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็มีขัดแย้งอยู่บ้างเล็ก ๆ คือเมื่อครั้งที่ท่านจอมพลอยากจะลองใจขั้วการเมืองด้วยการลาออก แต่ครั้งนี้เลยเถิดไปถึงส่งหนังสือลาออกไปถึงยังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเดือนกรกฎาคม 2487 ซึ่งทางคณะผู้สำเร็จราชการก็พยายามสอบถามแล้ว แต่ท่านผู้นำเล่นตัวไม่ยอมตอบ คณะผู้สำเร็จ ฯ ก็เลยลงนามให้ลาออก แต่คล้อยหลังไม่เกินวันเดียวท่านจอมพลก็ออกแถลงการณ์ว่า การลาออกเป็นเรื่องเข้าใจผิด แถมให้นายทหารคนสนิทโทรไปหาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ แต่พระองค์ไม่คุยด้วย โดยให้หม่อมกอบแก้วเป็นผู้รับสายและตอบคำถาม (อันนี้ผมก็งง งง ) สุดท้ายพระองค์ก็ต้องไปขอโทษท่านจอมพล ป. เล่นเอาวุ่นวายไปหมด หลังจากเหตุนี้ไม่ถึงเดือน พระองค์ก็เลยลาออกจากฐานะประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วหลังจากนั้นก็มีเหตุแห่งปัญหาภายคณะราษฎรระหว่าง จอมพล ป. และ 'ปรีดี' ตามออกมาอีกคำรบใหญ่ จนกระทั่งจบสงครามมหาเอเชียบูรพา 

ซึ่งพอจบสงครามแล้วเรื่องที่เด็ดจริง ๆ ที่ผมเองอ่านไปก็งงไป คือ พระองค์ทรงมาให้การที่เกี่ยวกับจอมพล ป. เมื่อเกิดการไต่สวนการเป็นอาชญากรสงครามของ จอมพล ป. คือ “จอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาของจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน…นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องสำอางของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่า ขุนนิรันดรชัย (เสวก นิรันดร) เป็นผู้นำเอาไปให้  ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม” และ “เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือตราพระบรมนามาภิไธยย่อ และได้สร้างเก้าอี้โทรนขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนครุฑเท่านั้น” 

สรุปมันยังไง ท่านผู้อ่านตัดสินกันเอาเองนะครับ ผมงดออกความเห็น โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา' ทรงดำรงตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ทรงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพระยาพหลพลพยุหเสนาและจอมพล ป. ทั้งในการปกครองประเทศ และรักษาอำนาจของคณะพวกเขาไว้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสะดุดบ้างเล็กน้อย แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบจากคณะราษฎรเป็นอย่างยิ่ง

ใน พ.ศ. 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงตัดสินพระทัยกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงประชวรหนักจากโรคพระยกนะพิการ จนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2489 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา' ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ รวมอายุได้ 41 ปี 9 เดือน 26 วัน โดยทรงทิ้งไว้แต่เรื่องราวที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเจ้านายทั้งหลายให้เราได้จดจำ


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager