'ผู้เชี่ยวชาญ' ชี้!! 'ซีเซียม-137' ที่หายไม่อันตรายอย่างที่คิด พบมีค่าปริมาณกัมมันตรังสีที่ต่ำ ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

(20 มี.ค.66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพหลังมีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายออกจากโรงงานผลิตไฟฟ้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และพบว่ามีการหลอมไปตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.แล้วนั้น ในขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการระบุพื้นที่ใดบ้าง แต่เบื้องต้น ต้องมีการตรวจสุขภาพทั่วไปของพนักงานโรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว และตรวจหาสารตกค้างในปัสสาวะ 

ทั้งนี้เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นสารอันตรายพิเศษ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถตรวจได้ ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการพิเศษจึงเป็นผู้ตรวจสอบ โดยมีการตรวจพื้นที่รอบ ๆ โรงงาน ประชาชนในอำเภอนั้น ๆ และใน จ.ปราจีนบุรี

ขณะที่ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ขณะนี้ เราพบว่าวัตถุบรรจุซีเซียม-137 หายไป และพบเบาะแสที่โรงหลอมเหล็กว่า มีการหลอมเหลว ต้องเรียนว่าของต้นทางหายไปโดยมนุษย์ ที่เราจะต้องติดตามต่อว่าหายไปได้อย่างไร เหตุการนี้เป็นอุบัติการ ที่ยังไม่กระทบต่อชีวิตมนุษย์ ยังไม่ใช่อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์แบบเชอร์โนบิล หรือ ฟุกุชิมะ โดยกฎหมายฉบับใหม่ หากรู้ว่าอุปกรณ์รังสีสูญหายต้องแจ้งโดยพลัน แต่เมื่อไม่แจ้งโดยพลันจึงเกิดเหตุการณ์นี้ เราจึงติดตามได้โดยเครื่องมือของปรมาณูเพื่อสันติ หลังรับแจ้งทีมเข้าตรวจสอบโรงงานในวันรุ่งขึ้น แต่ตอนนี้ทางโรงงานยังไม่รู้ว่าหายเพราะอะไร 

อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับสารซีเซียม-137 ที่เป็นที่วิตกกังวลนั้น ทางด้าน นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้กล่าวว่า ซีเซียม-137 ที่หายไปมีค่าปริมาณกัมมันตรังสีที่ต่ำ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สัมผัสในระยะเวลาสั้น เมื่อเราสัมผัสกับรังสีนี้จึงไม่รู้สึกอะไรใด ๆ เลย แต่อาจจะแค่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากกว่า 

ถึงกระนั้นก็ไม่ต้องกังวลว่าเหตุการณ์นี้ จะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ 'โคบอลต์-60' จึงอยากจะแจ้งกับประชาชนว่า 'ไม่ต้องตื่นตระหนก' เพราะการสัมผัส ซีเซียม-137 ที่มีกัมมันตรังสีต่ำนั้น ตัวรังสีจะไม่สามารถตกค้างอยู่ในตัวเราได้ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนการโดนแดดแค่นั้นเอง

เรื่อง: พัฒน์นรี ชัยเดชารัตน์ Content Manager