ไขข้อข้องใจ 'รถไฟความเร็วสูง' เชื่อม 'ไทย-ลาว-จีน' เหตุผลที่ทำไมไทยต้องเป็นจีน และเหตุใดถึงล่าช้า

(20 มี.ค. 66) 'อ.ต่อตระกูล' รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง รถไฟความเร็วสูง เชื่อม ไทย-ลาว-จีน ที่สร้างไปได้มากแล้ว ว่า

รถไฟความเร็วสูง เชื่อม ไทย-ลาว-จีน ลงทุนด้วยเงินไทย สร้างโดยช่างไทย โดยใช้จีนให้เป็นผู้ออกแบบและเป็นที่ปรึกษา เป็นการเลือกที่ถูกต้องที่สุด ในระยะยาวเราจะมีความรู้ ความชำนาญก่อสร้างได้ด้วยตนเอง และไม่ต้องเอาที่ดินและทรัพยากรชาติไปประกันเงินกู้จีนแบบที่ลาวทำ

อีก 4 ปี จะเสร็จ วิ่งได้ถึงโคราช

ขณะนี้พร้อมสร้างต่อไปให้ถึงหนองคายเพื่อข้ามไปเชื่อมรถไฟสายลาว-จีน

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีการสนทนาสอบถามถึงเหตุผลที่ทำไมต้องให้จีนออกแบบ แล้วทำไมถึงยังดูล่าช้าจากลูกเพจ ซึ่งเรื่องนี้มีคำตอบว่า...

วิศวกรไทยเราสามารถออกแบบเสาและทางวิ่งได้ แต่เราออกแบบระบบควบคุมและสร้างตัวรถไฟไม่ได้ พวกนี้เราต้องซื้อและจีนทำได้ดีและถูกสุด ล่าสุดอังกฤษยังให้จีนไปสร้างให้เลย เราและประเทศในโลกนี้ ไม่มีใครชำนาญการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงมากเท่าจีน

นอกจากนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Vittaya Nantayanakul ก็ได้เสริมว่า หากมองไปถึงปัญหาของโครงการในระยะแรกคือ จีนอยากจะเป็นผู้รับเหมาแบบ Turn key คือ ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นที่รู้กันดีในแวดวงวิศวกรรมว่า งานโยธาของจีนค่อนข้างมีปัญหา ส่วนงานระบบรางของจีนถือว่าเก่งที่สุดในโลกแล้ว 

ที่นี้ไทยเองก็ไม่ไว้ใจที่จะให้จีนออกแบบงานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม ผลก็คือทะเลาะกันเรื่องนี้อยู่กว่า 3 ปี จีนก็บอกว่าข้าเก่งกว่าเอ็ง แน่นอนเพราะข้าทำมาเยอะแล้ว แต่ไทยก็สวนกลับไปว่าแล้วที่ถล่มเยอะแยะไปหมดล่ะ รวมทั้งจีนจะใช้มาตรฐานวัสดุและอุปกรณ์ของจีน เรื่องนี้เรารับไม่ได้

นี่คือสาเหตุที่ทำให้โครงการล่าช้าและขลุกขลักในระยะแรก สุดท้ายหาทางออกแบบพบกันครึ่งทางคืองานที่เป็นงานโยธาทั้งหมด ไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้เราทำได้สบายอยู่แล้ว งานวางรางเรารับผิดชอบในฐานะผู้รับเหมาโดยจีนเป็นผู้ควบคุมงาน

และสุดท้ายคืองานระบบเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระบบรถไฟจีนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งน่าจะเป็นโครงการที่ซับซ้อนและท้าทายการจัดการเป็นอย่างยิ่ง แต่เชื่อว่าเราผ่านสุวรรณภูมิมาได้โครงการนี้สบายมาก