‘หมอหมู’ เปิดเหตุผล ‘ทำไมนอนในรถถึงเสียชีวิต’ ชี้!! เพราะขาดออกซิเจน-สูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์

(14 มี.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี’ หรือ หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ออกมาให้ความรู้ ตอบคำถาม ทำไมนอนในรถยนต์ถึงตาย แต่นั่งในรถยนต์ทั้งวันกลับไม่ตาย ขอตอบแบบใช้ความรู้ทางนิติเวชบวกกับประสบการณ์ในการตรวจผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในรถยนต์นะครับ

1) สาเหตุการเสียชีวิตจากการนอนในรถยนต์ คือการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกาย โดยก๊าซดังกล่าวเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และสามารถแย่งจับกับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจนได้ดีกว่าถึง 200 เท่า ทำให้คนที่ดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปจะขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้

2) การรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาในตัวรถ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ การเสื่อมสภาพของตัวรถ และการดัดแปลงตัวรถ (https://www.komchadluek.net/scoop/352290) โดยปกติแล้วรถยนต์ที่ผลิตออกมาจะสามารถปกป้องการรั่วไหลของก๊าซเข้ามาในรถได้อยู่แล้ว (ไม่ 100% ห้องโดยสารในรถยนต์ไม่ใช่ห้องที่ถูกผนึกแน่นจนอากาศไม่สามารถไหลเวียนได้ แต่ทว่าตามช่องประตู หรือรูอุดที่ไม่เห็นในห้องโดยสารรถยนต์ จึงยังมีช่องทางให้อากาศไหลเวียนได้ซ่อนอยู่) แต่หากใช้งานไปนานๆ โดยไม่มีการดูแลบำรุงรักษา รวมถึงมีการดัดแปลงสภาพรถ ก็อาจทำให้เกิดการรั่วไหลเข้ามาในตัวรถได้ในปริมาณมากครับ

3) การนอนในรถยนต์ถึงตาย สามารถอธิบายได้ว่า สาเหตุมาจากรถยนต์มีการรั่วของก๊าซเข้าในตัวรถ และในขณะที่นอนหลับจะได้รับก๊าซเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย จนสลบไป ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเมื่อได้รับก๊าซต่อเนื่องจึงเสียชีวิต

4) 'แต่นั่งในรถยนต์ทั้งวันกลับไม่ตาย' สามารถอธิบายได้ว่า ถึงแม้จะมีการรั่วของก๊าซเข้าในตัวรถ และได้รับก๊าซเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย แต่ร่างกายของเราจะแสดงอาการที่ทำให้เรารู้สึก เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ซึ่งผู้ประสบเหตุยังมีสติจึงสามารถช่วยเหลือตนเองออกมาจากสถานการณ์นั้นได้

สรุป
1) ไม่ควรนอนในรถยนต์ที่ติดเครื่องยนต์
2) ไม่ควรดัดแปลงสภาพรถยนต์จนเป็นเหตุให้ไอเสียรถยนต์เข้าไปในตัวรถ
3) ควรตรวจสอบและซ่อมบำรุงรถอย่างสม่ำเสมอ


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000023977