ต้องแก้ฝุ่นเชิงรุก ปชป. ติง!! ผู้รับผิดชอบปัญหาฝุ่น PM 2.5  มีทัศนคติไม่ถูกต้อง มองปัญหาจะหมดไปเอง

ปชป.กทม. ชู นโยบายประกาศสงครามฝุ่นพิษ ชงตั้ง 'โซนมลพิษต่ำ' นำร่อง 16 เขตใจกลางเมือง พร้อมเดินหน้ากรุงเทพฯ เมืองอากาศสะอาด เปิดทางทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหามลพิษ

(13 มี.ค.66) ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกทม. และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบายกทม. พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการประกาศสงครามกับปัญหามลพิษและฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการกำหนดเขตควบคุมมลพิษใจกลางเมือง 16 เขต โดยนายองอาจ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นความสำคัญของปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงพยายามหามาตรการและแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ไข แต่ยังพบว่าไม่สามารถดำเนินการได้เท่าที่ควร ด้วยสาเหตุดังนี้…

1.ผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง และมองว่าปัญหานี้จะค่อยๆ หมดไป หรือคิดว่าเป็นเรื่องที่มาตามเทศกาลช่วงปลายปีต่อเนื่องกับช่วงต้นปี

2.ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ยังไม่บังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่มีอยู่ได้อย่างจริงจัง 3.ผู้บริหารที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ยังไม่พยายามหามาตรการหรือแนวทางให้เท่าทันกับปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้น 

พรรคฯ จึงมอบหมายให้นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานนโยบายกทม.ของพรรคฯ ได้ศึกษาตามกระบวนการ ‘ฟัง-คิด-ทำ’ ร่วมกับนักวิชาการ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จนมีข้อสรุปในเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดวิธีการและมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เราจะสามารถดำเนินการได้ในที่สุด

ด้านนายสุชัชวีร์ กล่าวว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบาย ‘ประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ PM 2.5’ ที่ประกอบด้วย... 

1.ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลและอันตรายของมลพิษทางอากาศอย่างเท่าเทียม โดยต้องแสดงปริมาณฝุ่นในพื้นที่โรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง ให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น ขณะที่ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบขอประเมินคุณภาพอากาศ รวมถึงประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน 

2.เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยจะเป็นกฎหมายที่กำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศเพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ อีกทั้งจะมีมาตรการ ‘ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม’ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาและเยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ

และ 3.กำหนดเขตมลพิษต่ำ ‘Bangkok Low Emission Zone - B-LEZ’ (บีเลส) นำร่อง 16 เขตในพื้นที่ชั้นใน ได้แก่ เขตพระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, ดุสิต, พญาไท, ราชเทวี, ปทุมวัน, สาทร, บางรัก, บางคอแหลม, บางพลัด, บางกอกน้อย, บางกอกใหญ่, คลองสาน, ธนบุรี และยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง เพราะใน 16 เขตนี้มีสถานศึกษามากกว่า 300 แห่ง และสถานพยาบาลมากกว่า 40 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นอย่างรุนแรง โดยในโซนดังกล่าวจะมีการควบคุมรถขนส่งและรถสาธารณะที่ปล่อยฝุ่น รวมถึงการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป