ว่ากันไปตามสถิติ!! เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์คนจนต่อประชากรยุค 'บิ๊กตู่' เมื่อตัวเลขลดลงเหลือหลักเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
(12 มี.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊กคุณ 'LVanicha Liz' ได้นำเสนอข้อมูลเท็จจริงเปรียบเทียบอัตราส่วนของ 'คนจน' ในยุครัฐบาลต่างๆ ภายใต้หัวข้อ '#peopleจนหมดแล้ว จริงแค่ไหน?' ระบุว่า...
ดูเหมือน น.ส.แพทองธาร อาจจะไม่เคยศึกษาตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในระดับโลก
ยกตัวอย่างในการเน้นปัญหาของไทย เธออ้างว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำ ติดอันดับ Top 5 ของโลก ทั้งๆ ที่อันดับความเหลื่อมล้ำของไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับค่อนข้างดี (ในปี ๒๕๖๓ เป็นอันดับที่ ๙๘ ของโลก) ตามที่ผู้เขียนโพสต์เมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ. ๒๕๖๖
ช่วงใกล้เลือกตั้งไม่ควรสุ่มสี่สุ่มห้าพูดในลักษณะที่อาจทำให้ผู้รับเลือกตั้งรายอื่นเสียหาย เพราะอาจผิดกฎหมาย
อีกประเด็นก็คือการระบุว่า #peopleจนหมดแล้ว ในการให้สัมภาษณ์ครั้งเดียวกันนั้น
เธอกล่าวถึงนโยบายถ้าตนเองเป็นนายก รมต. (นาที ๑๙.๔๗) ว่า ๖ เดือนแรกจะลดค่าน้ำค่าไฟ เพราะ #peopleจนหมดแล้ว (นาที ๒๐.๐๓) เธอเน้นว่าต้องทำเดี๋ยวนี้เลย https://www.youtube.com/watch?v=XrIw_2oKEoU
อันที่จริงคนจนไม่ได้ใช้น้ำใช้ไฟสักเท่าไร ...
ใครมาจากประเทศตะวันตกบางประเทศจะพบว่า น้ำประปาเมืองไทยจัดว่าราคาต่ำ ส่วนค่าไฟ คนที่เดือดร้อนน่าจะเป็นพวกมีเงินซื้อและใช้แอร์
สุ้มเสียงของเธอคล้ายจะตำหนิว่า รัฐบาลปัจจุบันเป็นตัวทำให้คนไทยยากจน
อันที่จริงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาล เมื่อสิ้นสุดรัฐบาลนายทักษิณ นายอภิสิทธิ์, น.ส.ยิ่งลักษณ์ อัตราคนจนต่อประชากร คิดเป็น ๒๑.๙๔, ๑๓.๒๒, ๑๐.๕๒ ตามลำดับ
***พอถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อัตราคนจนลดลงเป็นเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูล และคงเป็นเลขหลักเดียวตลอดมา (อ้างอิงภาพตารางเปรียบเทียบการลดลงของอัตราคนจนรัฐบาลต่างๆ)
ในเมื่อผลงานจัดการกับความยากจนของรัฐบาลกลุ่มการเมืองตระกูลชินฯ ไม่เคยทำอัตราคนจนให้เหลือตัวเลขได้เท่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เธอจะพูดในทำนองตำหนิได้อย่างไรว่า #peopleจนหมดแล้ว
แม้ว่าช่วงหลังนี้ อัตราความจนเริ่มขึ้นๆลงๆ (slope เริ่มลาด ไม่ดิ่งลงด้วยความชันเหมือนก่อน) ทำให้พรรคเพื่อไทยออกมาโจมตีในลักษณะคล้ายกับว่าควบคุมให้คนจนลดลงต่อเนื่องไม่ได้
ในส่วนนี้ต้องเข้าใจธรรมชาติของ การลดความยากจนว่า เมื่ออัตราคนจนลดลงถึงระดับต่ำแล้ว มันจะเริ่มโดดไปมาแบบเริ่มจะลดยาก เป็นทั้งประเทศจนและประเทศรวย ผู้เขียนได้แสดงลักษณะ slope อัตราคนจนเริ่มลาดเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คืออินโดนีเซีย (เริ่มมีความลาดที่ ๑๑.๔%) และเวียดนาม (เริ่มมีความลาดตั้งแต่ ๑๙.๕%) ในขณะที่ของไทย เริ่มมีความลาดเมื่อลงมาถึง ๗.๑๙ % ซึ่งนับว่าลงมาได้ค่อนข้างลึกทีเดียวก่อนจะลาด (อ้างอิงภาพเปรียบเทียบลักษณะการชะลอตัวโดยเฉลี่ยของการลดอัตราคนจน ๓ ประเทศ)
หมายเหตุ: อัตราคนจนนี้ หากวัดเทียบ national poverty line จะเปรียบเทียบตัวเลขกับประเทศอื่นๆโดยตรงไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศใช้ poverty line คนละเส้น โดยมากประเทศรายได้สูงจะมี poverty line สูงกว่าประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งไทยเป็นประเทศ higher middle income ส่วนเพื่อนบ้านอีกสองประเทศเป็น lower middle income
หากต้องการวัดที่ poverty line เดียวกันจะใช้ poverty line มาตรฐานของ World Bank ๒.๑๕ USD/วัน (เดิม ๑.๙๐) สำหรับ low income country (ต่ำกว่านี้ถือว่าเป็น extreme poverty) ๓.๖๕ USD/วัน (เดิม ๓.๒๐) สำหรับ lower middle income และ ๖.๘๕ USD/วัน (เดิม ๕.๕๐) สำหรับ higher middle income
เมื่อเปรียบเทียบอัตราคนจนกับหลายประเทศขึ้นไปอีก จะพบว่าปี ๒๕๖๔ อัตราคนจนอย่างยิ่ง (extreme poverty) ไทยและมาเลเซียเป็น ๐% (๐.๐x) ขณะที่อีกหลายประเทศยังคงมีจำนวนอยู่มากพอสมควรทีเดียว (อ้างอิงภาพสัดส่วนจำนวนคนจนอย่างยิ่งของ Our World in Data) รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา อันเป็นความน่าประหลาดใจอย่างมาก
https://ourworldindata.org/poverty
ถ้าจะดูทุกประเทศในการปรายตาแวบเดียว มีเว็บไซต์หนึ่งสะท้อนความเป็นจริงนี้ตั้งแต่สมัย คสช. (๒๕๖๑) แสดงประเทศไทยเป็นสีเขียวเข้มอย่างโดดเด่น อันหมายถึง extreme poverty ๐% พร้อมด้วยอีกไม่กี่ประเทศในทั้งโลกนี้ (อ้างอิงภาพแผนที่โลก)
https://howmuch.net/articles/people-living-in-extreme-poverty-2018
ดังนั้น ใครอยากจะโจมตีหรือข่มใคร ควรดูว่าฝ่ายตนเองอยู่ในสถานะที่จะโจมตีหรือข่มเขาได้หรือไม่