อยู่ที่การเลือกใช้ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ เล็งหากฎหมายรองรับ ‘กัญชา’ ย้ำ! ควรใช้อย่างถูกต้อง-เข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ . สธ.เตือน ‘กัญชา’ มีทั้งคุณและโทษ ควรใช้ประโยชน์อย่างเข้าใจและถูกต้อง

สธ.เตือน ‘กัญชา’ มีทั้งคุณและโทษ ควรใช้ประโยชน์อย่างเข้าใจและถูกต้อง

(3 มี.ค. 66) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า “กัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) 2565 กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงส่งเสริมการใช้และองค์ความรู้ในการใช้ทางการแพทย์ และมีการส่งเสริมพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ แต่ สธ.มีข้อกำหนดการใช้กัญชาชัดเจนว่า กำหนดให้ใช้กัญชาได้ในผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เด็กวัยเรียนเยาวชนไม่สามารถใช้กัญชาได้ รวมทั้ง สตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่สามารถใช้กัญชาได้

“นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงที่กำหนดให้กลิ่นและควัน เป็นเหตุรำคาญ ยังกำหนดข้อห้ามใช้สูบ ใช้เสพในที่สาธารณะ ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ และ เจ้าพนักงานตามกฎหมายสามารถนำมาใช้ในการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจทำให้เกิดการใช้ที่ไม่เหมาะสม นอกจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรครบคุม (กัญชา) 2565 แล้ว ยังมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจากการใช้ไม่เหมาะสม เช่น ประกาศของกรมอนามัยที่กำหนดให้กลิ่นกัญชา ควันกัญชาเป็นเหตุก่อความรำคาญ ก็เพื่อป้องกันการเสพในที่สาธารณะ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่จะนำกัญชามาปรุงเป็นอาหารหรือประกอบอาหารต้องปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับผู้บริโภค และผู้บริโภคเองสามารถสังเกตฉลากบรรจุภัณฑ์อาหารที่ต้องแสดงรายละเอียดส่วนผสม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการรับประทานโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้แพ้กัญชา เราต้องคำนึงถึงและระมัดระวัง” นพ.ธงชัย กล่าว
 

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวอีกว่า กัญชาเหมือนเหล้าและบุหรี่ ที่ต้องมีกฎหมายมาควบคุมการใช้ ดังนั้นอะไรที่เป็นผลกระทบ สธ.ไม่เคยนิ่งนอนใจ การเล็งเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการใช้กัญชาทางการแพทย์ ที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ จึงเป็นโอกาสและทางเลือกที่ดี และการต่อยอดส่วนต่างๆ ของกัญชา ก็เพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กัญชาจึงยังมีมุมของการใช้ ควรใช้อย่างถูกต้องและเข้าใจ เพื่อให้ เกิดประโยชน์อย่างถ่องแท้

ทางด้าน นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในส่วนของอาหารทั่วไป ที่เด็กส่วนใหญ่นิยมบริโภค เช่น เยลลี่ ขนมกรุบกรอบ หรือ แม้กระทั่งเครื่องดื่มบางชนิด ก่อนที่จะบริโภค ควรอ่านฉลากว่ามีกัญชา เป็นส่วนประกอบหรือไม่ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และ คำเตือนที่แสดงบนฉลาก ให้เข้าใจ ที่ผ่านมา สธ.ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้อยู่เสมอ เนื่องจากกัญชาไม่ควรใช้ในเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากสมองเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชา มีสารทีเอชซี (THC) ที่มีผลต่อสมองของเด็กในระยะยาว อีกด้วย หากมีข้อสงสัยหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องกัญชา สามารถติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5607-8 หรือ 0 2591 7007 ต่อ 3708, 3713


ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3854484