รพ.ราชบุรี จัดพี่พักฟรีผู้ป่วยมะเร็งยากไร้รอรักษา หวังช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายและการเดินทาง
โรงพยาบาลราชบุรี ร่วมกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ วัดหนองหอย จัดบริการที่พักชั่วคราวฟรี!! สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่มีฐานะยากจนได้รับการรักษาด้วยวิธีฉายแสงได้พักจนกว่าแพทย์จะให้กลับบ้าน
เมื่อวันที่ (2 มี.ค. 66) ที่ห้องประชุมปฐมจักรี โรงพยาบาลราชบุรี นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี พร้อมด้วยนางวันทนา ชนะกุล ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาความรู้ด้านการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ นางสาวอลิสรา กรุงจิตร ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดราชบุรี ร่วมกันลงนามความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลราชบุรี และสถาบันการพัฒนาความรู้ด้านการสังคม ในการจัดบริการที่พักชั่วคราวสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่มีฐานะยากจน และ อยู่ในสภาวะยากลำบาก ที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องด้วยวิธีฉายแสงโดยศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลราชบุรี โดยรองรับผู้ป่วยในภาคตะวันตกทั้งหมด 8 จังหวัด
จากข้อมูล มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มารับการฉายแสงไม่น้อยกว่าปีละ 2,000 ราย ซึ่งขั้นตอนการฉายแสงต้องฉายทุกวันจันทร์ - ศุกร์ โดยผู้ป่วย 1 ราย ต้องฉายแสงโดยเฉลี่ย 25 - 35 ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน เดินทางลำบาก ทำให้ส่วนหนึ่งไม่สามารถทำการรักษาได้ครบหรือขอยุติการรักษา เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายและการเดินทาง
โรงพยาบาลราชบุรี นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า ทางศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลราชบุรี ได้มีการสำรวจพื้นที่และประสานงานกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้มีการประชุมพูดคุยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยร่วมกัน โดยได้เข้าปรึกษากับทาง พระราชวัลภาจารย์ (ดาวเรือง อาจารคุโณ) รองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เจ้าอาวาสวัดหนองหอย ซึ่งท่านได้มีความเมตตากับผู้ป่วยระเร็ง และ ผู้ป่วยยากไร้ จึงมีความเห็นให้ใช้ศูนย์สายในรักเดิม ปัจจุบันเป็นสถาบันการพัฒนาความรู้ด้านการพัฒนาเพื่อสังคมและสวัสดิการ
จากนั้นจึงได้มีการจัดทำโครงการและทำบันทึกข้อตกลงกำหนดการข้อตกลงความร่วมมือการจัดบริการที่พักชั่วคราวสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีฐานะยากจนและอยู่ในสภาวะยากลำบากที่รับการรักษาด้วยวิธีฉายแสงระหว่างกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กับโรงพยาบาลราชบุรีเพื่อแบ่งเบาภาระกับผู้ป่วยต้องมาเช่าบ้านพักในพื้นเพื่อทำการรักษาบางรายมาจากพื้นที่ไกลๆต้องรักษาด้วยการฉายแสงอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นระยะเวลา 25 - 35 ครั้ง อีกทั้งผู้ป่วยมีฐานะยากจนก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย
ที่มา : naewna